
โดยปกติผู้หญิงหลายคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดหายไปเป็นระยะเวลาที่นานหลาย นั่นอาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังอยู่ใน ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Anovulation) ซึ่งคุณอาจจะยังไม่ทราบว่าภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเกิดจากสาเหตุอะไร มีความเสี่ยงไหม มีวิธีรักษาอย่างไร เราจะพาไปหาคำตอบกันในบทความนี้
สารบัญบทความ
- รู้จัก ‘ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง’
- การตกไข่มีกระบวนการทำงานอย่างไร
- ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใด
- ปัจจัยเสี่ยงภาวะไข่ไม่ตกมีอะไรบ้าง
- อาการส่งสัญญาณภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- การวินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังกับการตั้งครรภ์
- แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- คำถามที่พบบ่อย
- ข้อสรุป
รู้จัก ‘ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง’
ภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) หรือ ภาวะไข่ตกผิดปกติ (Ovulation Disorder) คือ การไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ โดยที่อาจจะมีหรือไม่มีการเจริญของฟอลลิเคิลในรังไข่ก็ได้
เมื่อไม่มีการตกไข่ก็จะไม่มีการสร้างคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) ซึ่งมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกกลายเป็นประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือในรายที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวมีการหลุดลอกตัวผิดปกติ เกิดภาวะประจำเดือนมามาก หรือเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
การตกไข่มีกระบวนการทำงานอย่างไร
โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไข่ของเพศหญิงมีการปฏิสนธิในช่วงที่ไข่ตก ซึ่งใน 1 เดือน จะมีการไข่ตก เพียง 1 ครั้ง และช่วงที่ไข่จะพร้อมรอการผสมในแต่ละเดือนจะมีช่วงเวลาอยู่แค่ 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น
ถ้าหากมีการปฏิสนธิหรือมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานี้ ไข่ก็จะไปฝังตัวกับเยื่อบุผนังมดลูกกลายเป็นตัวอ่อน เกิดเป็นการตั้งครรภ์ขึ้น แต่ถ้าไข่ไม่ถูกปฏิสนธิหรือผสมไม่สำเร็จ อีก 14 วันหลังจากนั้นก็จะกลายเป็นประจำเดือน
คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าช่วงไหนคือช่วงที่ไข่ตก? โดยปกติร่างกายผู้หญิงจะมีการตกไข่เป็น Cycle สำหรับวิธีนับวันไข่ตกสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ นับวันไข่ตก คืออะไร นับยังอย่างไร?
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใด

ระบบการทำงานที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนสำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนจากวัยเด็กมาเป็นวัยรุ่น และตอนที่รังไข่ใกล้จะหยุดทำงาน ได้แก่ ช่วงที่ผู้หญิงใกล้จะหมดประจำเดือน การทำงานของฮอร์โมนจะไม่สม่ำเสมอเหมือนในช่วงวัยเจริญพันธุ์
1. ผลข้างเคียงจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS : polycystic Ovarian Syndrome) โดย PCOS คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของหลายๆ ระบบ ทำให้เกิดการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่ เกิดเป็นถุงน้ำเล็กๆ ในรังไข่ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
2. ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (POI)
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ( POI : Premature ovarian failure) ภาวะที่รังไข่หยุดการทำงานก่อนอายุ 40 ปี หากรังไข่เสื่อม ก็จะไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ตามปกติหรือตกไข่ได้ตามปกติ จึงทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
บทความอ่านเพิ่มเติม : ผู้หญิงอายุ 40 ปียังมีลูกได้ไหม?
3. ภาวะไข่ตกน้อยลง (DOR)
เมื่อปริมาณไข่ในรังไข่ลดลงอาจทำให้คุณไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ นอกจากเรื่องของช่วงอายุ และการเสื่อมสภาพตามวัยแล้ว สาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ก็อาจส่งผลให้คุณมีจำนวนไข่ในรังไข่น้อยลงได้อีกด้วย
- การสูบบุหรี่
- มีประวัติการรักษาด้วยรังสี เคมีบำบัด และการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับรังไข่
- โรคที่เชื่อมโยงกับท่อนำไข่
- ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม
- ภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ
4. ความผิดปกติของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง
มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนมากระตุ้นและยับยั้งการทำงานต่อมใต้สมองส่วนหน้าและ ยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหลัง ผลของ prolactinoma สร้าง prolactin สูงในผู้หญิงทำให้เกิดการขาดประจำเดือน มีลูกยาก และมีอาการจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง
5. ฮอร์โมนไม่สมดุล
- Gonadotropin-releasing hormone (GnRH) ผลิตโดยไฮโปทาลามัส เพื่อกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน FSH ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์ไข่
- Follicle-stimulating hormone (FSH) คือ ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ เป็นฮอร์โมนที่มีผลโดยตรงต่อวงจรของประจำเดือน หากมีระดับ FSH ต่ำเกินไป (มักจะพบในผู้หญิงที่มีอาการของโรค PCOS) หรือสูงเกินไป (อาจพบในผู้หญิงที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด) จะสามารถทำให้เป็นผู้มีบุตรยากได้
- Luteinizing hormone (LH) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ฮอร์โมนดังกล่าวอยู่ในกลุ่มของฮอร์โมนที่เรียกว่าโกนาโดโทรฟิน (Gonadotropin) โดยฮอร์โมนลูทิไนซิงจะทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ในเพศหญิง หากคุณผู้หญิงมีระดับฮอร์โมน LH ในเลือดสูง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหา รังไข่หยุดทำงานก่อนวัย
ปัจจัยเสี่ยงภาวะไข่ไม่ตกมีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะไข่ไม่ตก ได้แก่
- เป็น PCOS (polycystic Ovarian Syndrome) ถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นสภาวะที่เกิดจากการที่ไข่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่สมบูรณ์จนสามารถหลุดออกมาจากรังไข่ได้ ไข่ที่โตไม่เต็มที่เหล่านี้ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนและฮอร์โมนเพศชายชนิดอื่นๆ ออกมามากส่งผลทำให้พิทูอิตารีเกิดความสับสนส่งผลให้ผลิต LH ออกมามากเกินไปและ FSH น้อยเกินไป เมื่อไม่มี FSH ไข่ก็ไม่สามารถเจริญได้จนสมบูรณ์ได้จึงไม่เกิดการตกไข่
- ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร
- มีภาวะฮอร์โมนโปรแลคตินออกมามากเกินไป Prolactin เป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำนม สาเหตุจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง และกินยาบางชนิด เช่นยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน
- มีอาการเครียดมากๆ
- การออกกำลังกายหนักจนเกินไป
- การลดน้ำหนักในระยะเวลาอันรวดเร็ว
- น้ำหนักตัวน้อยหรือมากจนเกินไป
- วัยใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยทอง
- ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ
- เป็นโรคเบาหวาน
- โรคซึมเศร้า
อาการส่งสัญญาณภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- ขาดประจำเดือนครั้งละหลายเดือน หรือ 2 – 3 เดือนมา 1 ครั้ง บางคนอาจมีประจำเดือนปีละ 1 – 2 ครั้ง
- ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ แต่เมื่อเป็นประจำเดือนก็จะเป็นนานกว่าปกติหรือมีปริมาณมากผิดปกติ
- หน้าเป็นสิว ผิวมัน
- ️เป็นภาวะมีบุตรยาก
การวินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
แพทย์จะซักประวัติคุณเกี่ยวกับรอบประจำเดือน หากคุณมีรอบเดือนที่ผิดปกติหรือขาดหายไป แพทย์จะทำการตรวจฮอร์โมนเพศหญิงด้วยการเจาะเลือด โดยระดับฮอร์โมนตัวหนึ่งที่รวมอยู่ด้วยคือการตรวจดู 21 progesterone หลังจากมีการตกไข่ ฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนจะสูงขึ้น ดังนั้นหากฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนของคุณไม่มีการเพิ่มขึ้น คุณอาจจะไม่มีการตกไข่
แพทย์อาจจะตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูขนาดและรูปร่างของมดลูกและรังไข่ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจได้ว่ารังไข่มีลักษณะเป็นถุงน้ำหรือไม่ (PCOS : polycystic Ovarian Syndrome) อัลตร้าซาวด์สามารถใช้ตรวจดูการเจริญเติบโตของ Follicle และการตกไข่ แต่ว่าวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากคุณจำเป็นต้องอัลตราซาวนด์หลายครั้งระหว่างช่วง 1-2 สัปดาห์
ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังกับการตั้งครรภ์
แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะไข่ไม่ตก ได้แก่
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านโภชนาการ หากอ้วนจนเกินไปต้องควบคุมน้ำหนัก เน้นการทานอาหารโปรตีนสูง งดหวาน งดไขมันทรานส์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ในส่วนของผู้หญิงที่ผอมไป ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (lifestyle modification) ผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักจะสัมพันธ์กับการขาดประจำเดือนนั้น สามารถกลับมามีประจำเดือนได้ตามปกติ หากทานอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้ค่าดัชนีมวลกายกลับมาปกติ และควรมีปริมาณไขมันในร่างกายอย่างน้อย 22% ซึ่งไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีรอบประเดือนปกติ
2. การใช้ยากระตุ้นไข่
ยากระตุ้นไข่ตกที่มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ยารับประทานและยาฉีด ยารับประทานแพทย์มักให้เริ่มทานในช่วงวันที่ 3-5 ของการมีประจำเดือนวันละ 1-3 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 วัน ส่วนยาฉีดมักใช้ร่วมกับยารับประทาน หรืออาจใช้ยาฉีดอย่างเดียว แต่ขนาดยาและวันที่ฉีดมีความแตกต่างได้มากตามการปรับยาของแพทย์เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน
โดยยาเหล่านี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ไปซื้อยาใช้เองเนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้
3. การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่
การผ่าตัดรักษาถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เพื่อกำจัดส่วนที่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน มีส่วนช่วยให้การตกไข่กลับมาเป็นปกติด้วยการผ่าตัดจี้รังไข่แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง
- ลดความอ้วน ควบคุมอาหาร การควบคุมน้ำหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะเมื่อผอมลงการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายจะกลับมาใกล้เคียงปกติ ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอมากขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควรหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
คำถามที่พบบ่อย
ไข่ไม่ตกสามารถท้องได้ไหม?
เมื่อมีภาวะไข่ไม่ตก ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เนื่องจากไม่มีไข่สำหรับการปฏิสนธิ หากผู้หญิงมีการตกไข่ที่ไม่ปกติก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยลง เนื่องจากมีการตกไข่บ่อยน้อยกว่าปกติ
ไข่ไม่ตกแต่ท้อง เกิดจากอะไร?
ในกรณีที่ตรวจแล้วพบว่า ไข่ไม่ตก หรือเข้าใจว่าเป็นภาวะไข่ไม่ตกจากการตรวจแผ่นเทสต์ผ่านปัสสาวะ แต่สุดท้ายตั้งครรภ์อาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนของการตรวจซึ่งไม่ได้มีความแม่นยำ 100% โดยหากสงสัยว่าตัวเองไข่ไม่ตก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญหรือตรวจลึกถึงระดับฮอร์โมนการตกไข่จะมีความแม่นยำกว่า
ข้อสรุป
ภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะมีบุตรยาก ผู้หญิงที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการเจริญของไข่และการตกไข่ มักจะมีรอบประจำเดือนที่ไม่ปกติ ซึ่งสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังมาจาก ผลข้างเคียงจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย ภาวะไข่ตกน้อยกว่าปกติ ฮอร์โมนไม่สมดุล
ภาวะไข่ไม่ตก สามารถรักษาได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมในการทานอาหาร การใช้ยากระตุ้นไข่ รวมถึงการผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) หากใครมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดไปนานควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาได้ทัน ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงท่านไหนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf