
แน่นอนว่าเมื่อเริ่มตั้งครรภ์สิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำก็คือ การฝากครรภ์ เพราะการฝากครรภ์เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่อบอกว่าตั้งครรภ์แล้วควรไปฝากครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่หลายๆท่านอาจจะยังสงสัยว่า ต้องไปฝากครรภ์เมื่อไหร่ ฝากครรภ์ที่ไหนดี โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ฝากครรภ์ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และฝากครรภ์ครั้งแรกหมอตรวจอะไรบ้าง
สารบัญบทความ
- ทำความเข้าใจ ‘การฝากครรภ์’
- การฝากครรภ์สำคัญอย่างไร
- ประโยชน์ของการฝากครรภ์
- การเตรียมตัวฝากครรภ์ครั้งแรก
- เอกสารที่ต้องเตรียมเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก
- ขั้นตอนการฝากครรภ์ครั้งแรก
- ฝากครรภ์ครั้งแรก ต้องตรวจอะไรบ้าง
- ฝากครรภ์กี่ครั้ง
- การเลือกสถานที่ฝากครรภ์ที่ไหนดี
- ตรวจครรภ์และฝากครรภ์กับ BeyondIVF
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝากครรภ์
ทำความเข้าใจ ‘การฝากครรภ์’
การฝากครรภ์ คือ การดูแลการตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งครรภ์จนกระทั่งถึงวันคลอด เพื่อเฝ้าระวังติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ความรู้และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ โดยมีการนัดตรวจติดตามสุขภาพตลอดระยะเวลาในการตั้งครรภ์
ฝากครรภ์พิเศษ คืออะไร
ฝากครรภ์พิเศษ คือ การฝากครรภ์กับคุณหมอเพียงท่านเดียวแล้วคุณหมอท่านนี้จะเป็นคุณหมอทำคลอดให้ด้วย ซึ่งการฝากครรภ์พิเศษนี้มักเป็นการฝากครรภ์ของโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น เมื่อไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นการฝากพิเศษโดยอัตโนมัติ เปรียบเสมือนมีสูตินรีแพทย์ประจำตัวไปจนถึงตอนคลอดเลย
การฝากครรภ์สำคัญอย่างไร
สำหรับใครที่กำลังเตรียมจะมีลูกหรือเตรียมตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ การฝากครรภ์มีความสำคัญมาก เพราะแพทย์จะช่วยดูแลให้สุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกให้แข็งแรงปลอดภัย หากคุณแม่ไม่ได้ฝากครรภ์จะเสี่ยงในการให้กำเนิดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติมากถึง 3 เท่า และทารกที่คลอดออกมาอาจเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคุณแม่ที่ฝากครรภ์มากถึง 5 เท่า หากคุณแม่ฝากครรภ์และไปตรวจตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เด็กปลอดภัยได้ เพราะแพทย์สามารถตรวจเจอความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กและรักษาหรือป้องกันได้ทัน
ประโยชน์ของการฝากครรภ์
เพื่อตรวจเช็คความผิดปกติของครรภ์มารดา
เพื่อตรวจสอบดูว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติหรือไม่ เพราะหมอจะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง ซิฟิลิส ติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ รวมทั้งตรวจดูว่าท่านอนของลูกน้อยในครรภ์ดูผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติจะได้ป้องกันและแก้ไข หรือถ้าพบว่าโลหิตจางก็ต้องหาสาเหตุและใช้ยาบำรุงเลือดให้เข้มข้นมากขึ้น
ช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
ช่วยป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติและคลอดลูกได้ตามปกติมากที่สุด ถ้ามีโรคแทรกซ้อนหมอก็จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด หรือเสียเลือดน้อยที่สุด เป็นต้น
ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์
ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ เพราะการฝากครรภ์นั้นสามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อยได้อีกด้วย
ช่วยดูแลทารกในครรภ์ให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสม
ช่วยดูแลทารกในครรภ์ ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่
เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่ โดยจะทำให้คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงที่สุด เพราะหมอจะให้คำแนะนำและตอบคำถามเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตน และอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหา ซึ่งคุณแม่สามารถสอบถามหรือให้คุณหมอตรวจได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่
การเตรียมตัวฝากครรภ์ครั้งแรก
สิ่งที่เราควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ หากพิจารณาเลือกสถานพยาบาลฝากครรภ์ ได้แก่
- เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางเวลามีเหตุฉุกเฉิน
- ฝากครรภ์กับคุณหมอที่เราไว้ใจ โดยพิจารณาจาก ประสบการณ์ของแพทย์ ประวัติการทำงาน
- รพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชนเลือกตามงบประมาณและความต้องการความสะดวกสบาย
ควรฝากครรภ์ครั้งแรกตอนไหน อายุครรภ์กี่เดือน
ควรฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะตลอดช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ คือช่วงที่สำคัญมาก หากฝากครรภ์เรียบร้อยคุณหมอก็จะตรวจครรภ์ให้อย่างละเอียดและนัดมาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และทำให้คุณแม่ได้ดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ให้แข็งแรง สุขภาพดีที่สุด
เอกสารที่ต้องเตรียมเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก
สิ่งที่ต้องเตรียมไปที่โรงพยาบาลเมื่อไปฝากครรภ์ มีดังนี้
- บัตรประชาชนของคุณแม่และคุณพ่อ
- เตรียมข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร ประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
ขั้นตอนการฝากครรภ์ครั้งแรก
ก่อนจะตรวจครรภ์ คุณหมอจะต้องซักถามประวัติคร่าว ๆ เช่น คุณแม่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ รอบเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ เพื่อเป็นการคำนวณหาระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่แน่นอน คุณแม่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ ยาที่คุณแม่ใช้อยู่เป็นประจำ ประวัติการแพ้ยา ถามเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ของบุคคลในครอบครัว ถามเกี่ยวกับประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดที่ผ่านมา เมื่อได้ประวัติครบถ้วนแล้ว จึงถึงขั้นตอนการตรวจร่างกายต่อไป
ฝากครรภ์ครั้งแรก ต้องตรวจอะไรบ้าง
เมื่อเราไปฝากครรภ์ครั้งแรก จะมีการตรวจร่างกายและตรวจครรภ์ ดังนี้
ตรวจปัสสาวะ
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปฝากครรภ์ ก็คือการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะบ้างหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และดูว่ามีโปรตีนหรือไม่ ถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ ถ้าตรวจพบในช่วงหลังของครรภ์ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง แสดงว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ
ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
จะมีการวัดส่วนสูง ซึ่งเป็นการบอกคร่าวๆ ถึงขนาดเชิงกราน ถ้าคุณแม่ตัวเล็ก ก็อาจทำให้คลอดยากได้ ถ้าไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของลูก และคุณแม่อาจต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่
ตรวจเลือด
เมื่อไปฝากครรภ์ คุณแม่จะต้องถูกเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือดโรคเลือดธาลัสซีเมีย และตรวจหาโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์
วัดความดันโลหิต
จะมีการวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ โดยจะมีตัวเลข 2 ค่า ค่าแรกเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวดัน ให้โลหิตสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนค่าหลังเป็นความดันโลหิต ขณะที่หัวใจคลายตัวค่าความดันปกติจะราว 120/70 มิลลิเมตรปรอท และหากวัดค่าได้เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง
ตรวจทางหน้าท้อง
การตรวจทางหน้าท้องหรือที่เรียกว่าอัลตราซาวด์ การฝากครรภ์จะมีการตรวจหน้าท้องของคุณแม่เพื่อดูท่าของทารกว่าอยู่ท่าไหน ส่วนนำเป็นศีรษะหรือไม่ ประมาณขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าท่าของทารกไม่เป็นอันตรายต่อตัวทารกเองและตัวคุณแม่
ฝากครรภ์กี่ครั้ง
แพทย์จะนัดให้มาตรวจครรภ์โดยแบ่งเป็น 3 ไตรมาส และจะมีการตรวจที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
ไตรมาสแรก (เริ่มตั้งครรภ์ถึง 14 สัปดาห์)
แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน
- ตรวจปัสสาวะหรือเลือกเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
- ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดหรือกระเพราะปัสสาวะ
- ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1 (เอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี หมู่เลือดและคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย)
- ตรวจเลือดมารดาเพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจเลือดวัดสารเคมีบ่งชี้ทารกดาวน์ซินโดรม
- ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติของทารกเบื้องต้น
ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 15-28 สัปดาห์)
แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน
- ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ (กรณีมีความเสี่ยง)
- ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูเพศของทารก และดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์)
แพทย์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์
- สอนนับลูกดิ้น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก
- ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1 (เอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี และความเข้มข้นของเลือด)
- ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อคำนวนน้ำหนักตัวและตรวจสุขภาพทารกในครรภ์
การเลือกสถานที่ฝากครรภ์ที่ไหนดี
การฝากครรภ์ ควรฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวกที่สุด อาจจะเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน เพราะหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น จะได้ไปโรงพยาบาลได้สะดวกรวดเร็ว หากเป็นสถานพยาบาลที่คุณแม่มีประวัติการรักษาโรคประจำตัวมาก่อนยิ่งดี เพราะคุณหมอจะมีประวัติว่าคุณแม่เคยเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร และจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ส่วนคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนอาจจะฝากครรภ์กับคุณหมอสูติท่านเดิมก็ได้
ตรวจครรภ์และฝากครรภ์กับ BeyondIVF
เพราะที่ Beyond IVF ก่อนจะเปิดสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรยาก เราต้องศึกษาเรื่องการดูแลครรภ์อย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญอย่าง อาจารย์ต้น พูนศักดิ์ สุชนวนิช ที่มีประสบการณ์ในด้านสูตินรีแพทย์มานานกว่า 20 ปี ไม่ใช่แค่การรักษาภาวะมีบุตรยาก ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการคลอดบุตร
เพราะฉะนั้น ที่ Beyond IVF เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับทางด้านนี้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงในปัจจุบันสำหรับลูกค้าที่ฝากครรภ์กับเรา เราจะไม่มีแพ็คแกจที่ตายตัวหรือมีการดูแลที่เหมือนกันทุกเคส แต่เราจะออกแบบการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละเคสต่างกันออกไปตามอาการที่ควรจะเป็น
การตรวจและฝากครรภ์ที่ Beyond IVF จะอิงจากผลการตรวจร่างกายเป็นหลัก เช่น ตรวจโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตรวจโรคโลหิตจาง ตรวจโรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ โรคหลอดประสาทไม่ผิด เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่มีความกังวลเกี่ยวกับด้านพันธุกรรม มีความกังวลเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่มี เราจะติดตามดูเป็นพิเศษเพื่อให้คุณแม่สบายใจมากขึ้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝากครรภ์
ฝากครรภ์ช้าสุดกี่เดือน
ควรเข้ารับการฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นแพทย์จะนัดตรวจครั้งต่อไป โดยแต่ละครั้งจะมีระยะห่างประมาณ 6-8 สัปดาห์
ฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม
สำหรับคำถามที่ว่า “ไปฝากท้องคนเดียวได้ไหม” ในความเป็นจริงแล้ว การฝากครรภ์ไม่จำเป็นต้องพาสามีมาก็ได้ แต่บางครั้งถ้าตรวจเลือดแล้วคุณแม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค thalassemia แพทย์จะขอให้ตรวจเลือดของสามีร่วมด้วย ถ้าผิดปกติทั้งคู่ ต้องเจาะถุงน้ำคร่ำตรวจว่าเด็กเป็น โรคนี้หรือไม่
ฝากครรภ์คลินิก คลอดโรงพยาบาลได้ไหม
การฝากครรภ์ สามารถฝากได้ทั้งที่คลินิกและโรงพยาบาล สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่มีคุณหมอประจำตัว ที่อยากจะให้ทำคลอดก็สามารถฝากครรภ์ที่คลินิกของคุณหมอท่านนั้นได้เลย และไม่ต้องกังวลว่าเวลาคลอดจะต้องคลอดที่ไหน เพราะทางคุณหมอจะให้คุณแม่เลือกโรงพยาบาลที่คุณแม่ต้องการสำหรับการคลอดและพักฟื้น
ไม่ได้ฝากครรภ์ คลอดได้ไหม
ยังสามารถคลอดบุตรได้แต่ว่าไม่แนะนำ เนื่องจากการตั้งครรภ์เป็นระยะเวลา 9 เดือน ในแต่ละช่วงเวลามีความสำคัญเป็นอย่างมาก การเจริญเติบโตของเด็กสำคัญทั้งคุณแม่และทารกด้วย ระหว่างการตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นได้ เช่น โรคเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกต่ำ ภาวะรกเสื่อม หากไม่ติดตามการเจริญเติบโตของทารก อาจทำให้เกิดภาวะแท้งได้ เพราะหากไม่ได้ฝากครรภ์คุณแม่จะไม่รู้เลยว่าทารกกี่เดือนแล้ว กลับหัวหรือยัง จะคลอดช่วงไหน ไม่สามารถประเมิณช่วงเวลาคลอดได้ ซึ่งจะนำพามาสู่ความร้ายแรงที่ไม่คาดคิด
ข้อสรุป
การฝากครรภ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มาก ไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่ แต่แพทย์จะตรวจพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพื่อคอยดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้หากคุณแม่ท่านไหนที่กำลังกังวลใจหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฝากครรภ์สามารถสอบถามได้ที่ Line : @beyondivf