หลายคนคงเคยได้ยินว่า “หากประจำเดือนขาดอาจสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์” ประโยคดังกล่าวนั้นถูกเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วภาวะประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนมาไม่ปกตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ภาวะที่ไม่อันตรายไปจนถึงภาวะอันตราย ในบทความนี้จะช่วยให้คุณได้เข้าใจภาวะประจำเดือนขาดมากขึ้น พร้อมกับแนวทางการรักษาและตอบคำถามที่คุณอาจสงสัย
ตอบคำถาม: ประจำเดือนขาด สาเหตุและแนวทางการรักษา
- ประจำเดือนขาด เป็นภาวะที่เลือดประจำเดือนไม่มาตามรอบเดือนปกตินานกว่า 3 เดือนเป็นต้นไป
- สาเหตุของประจำเดือนขาดมีหลายปัจจัย เช่น ตั้งครรภ์, วัยทอง, ช่วงให้นมบุตร, ฮอร์โมนไม่สมดุล, ความเครียด, น้ำหนักมากหรือน้อยเกินเกณฑ์, การใช้ยา หรืออวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติ
- โดยการรักษาประจำเดือนขาดนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเป็นสาเหตุตามธรรมชาติก็ไม่ต้องรับการรักษา แต่หากเป็นสาเหตุที่ผิดธรรมชาติ อาจต้องเข้ารับการรักษาและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ประจำเดือนขาด
ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) คือ ภาวะใดภาวะหนึ่งที่ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตามปกติ หากประจำเดือนขาดหายไป 3 เดือน จะเรียกว่า ภาวะขาดประจำเดือน แต่ถ้าประจำเดือนขาดไป 1-2 เดือนจะเรียกว่า ภาวะประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ซึ่งมักพบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ภาวะขาดประจำเดือนตั้งแต่แรกสาว และภาวะขาดประจำเดือนที่เคยมีประจำเดือนและขาดหายไป
ลักษณะของรอบเดือนปกติ
โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะของประจำเดือนปกติ มีดังนี้
- ประจำเดือนมักมีสีแดง ไม่มีลิ่มเลือดหรือชิ้นเนื้อปน บางครั้งประจำเดือนอาจออกมาพร้อมกับตกขาวหรือมูกไข่ตกจึงดูเป็นก้อนได้แต่ไม่มีอันตรายใดๆ
- ประจำเดือนมักมาไม่เกิน 7 วันต่อรอบ และมาเพียง 1 รอบต่อเดือน แต่ในบางครั้ง หากมีประจำเดือนในช่วงต้นเดือน อาจจะมีประจำเดือนอีกครั้งในช่วงวันท้ายๆของเดือนได้
- โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละรอบประจำเดือนจะห่างกัน 28 วัน แต่สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 21 ถึง 35 วัน โดยในแต่ละคนควรมีประจำเดือนที่สม่ำเสมอในทุกๆ เดือน อย่างไรก็ตามในช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มมีประจำเดือนหรือในวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจจะมาไม่สม่ำเสมอได้
- ปริมาณประจำเดือนที่ปกตินั้นไม่ควรเกิน 80 ซีซี โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ซีซีต่อรอบ เทียบได้กับผ้าอนามัยประมาณ 3-4 ผืนต่อวัน
ประเภทของภาวะประจำเดือนขาด
ภาวะประจำเดือนขาดนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประจำเดือนขาดแบบปฐมภูมิ
ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือ ภาวะขาดประจำเดือนตั้งแต่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งผู้ที่มีภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมินี้ เมื่ออายุถึง 15 ปี หรือเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วจะไม่เคยมีประจำเดือน เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกันที่มีประจำเดือนกันตามปกติ โดยสาเหตุของการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิมักเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์แต่เกิด หรือสาเหตุทางพันธุกรรม
ประจำเดือนขาดแบบทุติยภูมิ
ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือ ภาวะที่ประจำเดือนขาดไปอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ ถือเป็นภาวะขาดประจำเดือนที่พบได้บ่อย โดยเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โรคทางกายอื่น ๆ ฮอร์โมนไม่สมดุล หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น
อาการเตือนประจำเดือนขาด มาไม่ปกติ
ผู้หญิงส่วนหนึ่งอาจพบภาวะประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่ปกติได้เป็นเรื่องปกติ หากการที่ประจำเดือนขาดเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อย่างประจำเดือนขาด 10 วัน หรือประจำเดือนขาด 1 เดือนอาจเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่เกิดขึ้นได้จากสาเหตุฮอร์โมนไม่สมดุล ภาวะเครียด หรือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นภาวะที่ยังไม่จำเป็นต้องกังวล หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจทำให้ภาวะประจำเดือนมาขาด ๆ หาย ๆ นั้นค่อย ๆ ดีขึ้นได้
แต่หากประจำเดือนขาดไปมากกว่า 3 เดือน หรือประจำเดือนมาขาด ๆ หาย ๆ บ่อยมากอาจต้องเฝ้าระวังและเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของภาวะประจำเดือนขาด ซึ่งอาการที่ควรระวังและเข้าพบแพทย์ มีดังนี้
- ไม่เคยมีประจำเดือน แม้จะเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์
- ประจำเดือนขาดพร้อมกับอาการปวดศีรษะ
- ประจำเดือนขาดร่วมกับอาการปวดท้องน้อย
- ประจำเดือนขาดและยังมีอาการเหนื่อยง่าย
- เคยมีประจำเดือนปกติ แต่จู่ ๆ ประจำเดือนขาดนานกว่า 3-6 เดือนโดยที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือมานานกว่า 7 วัน
ประจำเดือนขาดอาจเป็นสัญญาณของโรค
อย่างไรก็ตาม ภาวะประจำเดือนขาดอาจสามารถเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน โดยโรคที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) หรือที่รู้จักกันในชื่อ PCOS คือ ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อหรือ ฮอร์โมนในร่างกายมีระดับเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอนโดรเจน และอินซูลินที่ไม่สมดุล ซึ่งโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบนี้มักเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
โดยลักษณะของโรคคือจะพบช็อกโกแลตซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อย หรือมาไม่ปกติ
- ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Failure)
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Failure) คือ ภาวะที่หมดประจำเดือนก่อนอายุครบ 40 ปี สาเหตุของภาวะนี้เกิดจากการผ่าตัดศัลยกรรม การทำเคมีบำบัด และการฉายรังสีบริเวณท้องหรืออุ้งเชิงกราน
ประจำเดือนขาด เกิดจากสาเหตุใด
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะประจำเดือนขาดนั้นมีหลากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การตั้งครรภ์
หากประจำเดือนขาดหายไป การตั้งครรภ์มักเป็นสาเหตุที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่จะสงสัยเป็นสาเหตุแรก ๆ ซึ่งหากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์อยู่แล้วในช่วงก่อนประจำเดือนขาด การตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาด ซึ่งถือว่าไม่ใช่ความผิดปกติ สามารถตรวจเบื้องต้นได้เอง โดยใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจจากปัสสาวะ หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์เพื่อให้ได้ผลยืนยันชัดเจน
- ความเครียดสะสม
ความเครียด ความวิตกกังวล อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนอาจขาดหายได้ทีหลาย ๆ เดือน เนื่องจากความเครียดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือนนั่นเอง
- น้ำหนักตัวที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน
น้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือลดมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติได้ โดยเฉพาะเมื่ออดอาหาร หรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป อาจทำให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก ส่วนคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนมาก จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน และทำให้ประจำเดือนไม่มา
- การใช้ยาคุมกำเนิด
ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดอาจมีประจำเดือนมาน้อย มามาก มาไม่สม่ำเสมอ หรือไม่มาเลย โดยยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ยาคุมแบบฉีด หรือห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้ อย่างไรก็ตาม หากหยุดใช้ยาคุมแล้ว จะกลับมามีประจำเดือนตามปกติ
- ผลข้างเคียงจากตัวยาบางชนิด
การรับประทานยาบางตัว เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า, ยาต้านอาการทางจิต, ยารักษาโรคไทรอยด์, ยากันชัก, การรักษาโดยใช้เคมีบำบัด หรือยารักษาความดันโลหิตสูง ก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติได้
- การเข้าสู่วัยทอง
วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนถือเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี ประจำเดือนจะเริ่มขาดเมื่อเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดลง ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ เมื่อเลยช่วงวัยทองแล้ว รอบเดือนจะหยุดมา
การตรวจวินิจฉัยอาการประจำเดือนขาด
เมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยอาการประจำเดือนขาดเบื้องต้น ดังนี้
- แพทย์จะซักประวัติเบื้องต้น โดยเฉพาะประวัติทางสูตินรีเวช ได้แก่ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตรวจภายในและตัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงประวัติประจำเดือนย้อนหลัง
- ตรวจเลือด แพทย์ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะดูฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin) ลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing Hormone) และฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone: FSH) หรือฮอร์โมนเอฟเอสเอช ซึ่งล้วนแต่เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือนผู้หญิง แพทย์จะวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการประจำเดือนไม่มาจากระดับฮอร์โมนเหล่านี้
- การอัลตร้าซาวด์ แพทย์จะตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่และมดลูก เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในอวัยวะดังกล่าว โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงประมวลภาพสแกนอวัยวะภายในร่างกายออกมา
แนวทางการรักษาและป้องกันภาวะประจำเดือนขาด
สำหรับแนวทางการรักษาและป้องกันภาวะประจำเดือนขาด มีดังนี้
แนวทางการรักษาภาวะประจำเดือนขาด
- การรักษาด้วยการใช้ยา
ภาวะประจำเดือนขาดสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาฮอร์โมนเสริม หากเกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดปกติหรือเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เบื้องต้นเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ คุณหมออาจจ่ายยาฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกับยาเลื่อนประจำเดือนที่เราคุ้นเคย
ซึ่งเมื่อกินยาแล้ว จะทำให้ประจำเดือนมาได้ โดยอาจให้กินยาเป็นประจำในช่วงเดียวกันของทุก ๆ เดือน ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ และหลังจากนั้นให้ลองดูว่าประจำเดือนมาได้เองโดยไม่จำเป็นต้องกินยาหรือไม่
- การผ่าตัดตามสาเหตุของประจำเดือนขาด
ในบางกรณีผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เช่น มีปัญหาต่อมหมวกไตแต่กำเนิด, ภาวะรังไข่ไม่เจริญเต็มที่, ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนลดลง, มีเนื้องอกในมดลูก เป็นต้น
แนวทางการป้องกันภาวะประจำเดือนขาด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายหนักหรือต้องใช้แรงมากเกินไปก็ส่งผลต่อความผิดปกติของประจำเดือนได้ แนะนำเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกกินไขมันประเภทไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า หรือวอลนัท และเลือกกินโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดมัน ควบคู่กับการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือโฮลเกรน
- ลดความเครียด เพราะเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนแปรปรวน
- ให้ความสำคัญกับการนอน ไม่ใช่แค่นับจำนวนชั่วโมงการนอนให้เพียงพอ แต่ควรปรับเวลาการนอนใหม่ เป็นเข้านอนประมาณ 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า จะทำให้ไม่มีอาการง่วงหรือเพลียระหว่างวัน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักตัวที่น้อยไปก็จะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่มีความจำเป็นในกระบวนการตกไข่ ส่วนน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้
คำถามที่พบบ่อย
ประจำเดือนขาดแต่ไม่ท้อง เกิดจากอะไร?
ปัจจัยในการใช้ชีวิต เช่น ความเครียด การขาดสารอาหาร ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป การทำงานกะดึก ก็สามารถส่งผลต่อการมีประจำเดือนได้เช่นกัน
ประจำเดือนสามารถขาดได้นานสุดกี่วัน?
โดยปกติประจำเดือนจะมาทุกๆ 21-35 วัน แต่บางครั้งอาจมาเร็วหรือมาช้ากว่ารอบเดือนปกติประมาณ 3-7 วัน ซึ่งประจำเดือนเลื่อนอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาเร็วหรือมาช้ากว่าปกติ
ข้อสรุป
ภาวะประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ซึ่งสาเหตุมักเกิดขึ้นได้ทั้งการขาดประจำเดือนตามธรรมชาติอย่างการตั้งครรภ์ การเข้าสู่วัยทอง และการขาดประจำเดือนจากความผิดปกติใด ๆ เช่น ความเครียดสะสม ความผิดปกติของระดับฮอร์โมน หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งการที่ประจำเดือนขาด มาไม่ปกติมักเป็นอีกต้นเหตุที่ทำให้เข้าสู่ภาวะมีบุตรยาก
หากท่านไหนมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นไข้ อาเจียน ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมานานกว่า 7 วัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุและหาแนวทางในการรักษา ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf
อ้างอิง
Amenorrhea – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2023, February 9). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/amenorrhea/symptoms-causes/syc-20369299
Professional, C. C. M. (2023, March 3). Amenorrhea. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/3924-amenorrhea
Amenorrhea. (2017, January 31). https://www.nichd.nih.gov/. https://www.nichd.nih.gov/health/topics/amenorrhea