ไข่ไม่ตก

โดยปกติผู้หญิงหลายคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดหายไปเป็นระยะเวลานาน นั่นอาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Anovulation) ซึ่งคุณอาจจะยังไม่ทราบว่าภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเกิดจากสาเหตุอะไร มีความเสี่ยงต่อโรคอันตรายไหม มีวิธีรักษาอย่างไร เราจะพาไปหาคำตอบกันในบทความนี้

ตอบคำถาม: ไขข้อสงสัย ไข่ไม่ตก เกิดจากอะไร?

  • ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือ Anovulation เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยภาวะดังกล่าวจะเป็นภาวะที่ไข่ไม่ตกจากรังไข่ ซึ่งจะมีอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ประจำเดือนขาด
  • จากสถิติพบว่าผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เผชิญกับภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังประมาณ 10%
  • สำหรับอาการอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง เช่น บริเวณใบหน้ามีลักษณะผิวมัน สิวขึ้น ขนดก ไม่ว่าจะเป็นขนบริเวณแขน บริเวณขา ประจำเดือนคลาดเคลื่อนจากปกติ ในบางรายอาจเกิดประจำเดือนขาดเป็นระยะเวลานาน
  • ที่สำคัญภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังยังส่งผลต่อสุขภาพอย่างปัญหาการมีบุตรยาก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการจะมีบุตรในอนาคต
  • อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาการมีบุตรยากที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์แล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นในอนาคตจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังได้ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น

รู้จัก ‘ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง’

ภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) หรือ ภาวะไข่ตกผิดปกติ (Ovulation Disorder) คือ การไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ โดยที่อาจจะมีหรือไม่มีการเจริญของฟอลลิเคิลในรังไข่ก็ได้

เมื่อไม่มีการตกไข่ก็จะไม่มีการสร้างคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) ซึ่งมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกกลายเป็นประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือในรายที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวมีการหลุดลอกตัวผิดปกติ เกิดภาวะประจำเดือนมามาก หรือเลือดออกกะปริดกะปรอยได้

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ: ประจำเดือนขาด มาไม่ปกติ สาเหตุเกิดจากอะไร บอกอะไรได้บ้าง?

อยากมีลูก ไม่ท้องสักที รีบปรึกษาแพทย์ ก่อนถึงวัยมีลูกยาก ปนึกษาแพทย์ฟรี คลิก

การตกไข่มีกระบวนการทำงานอย่างไร

  • โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไข่ของเพศหญิงมีการปฏิสนธิในช่วงที่ไข่ตก ซึ่งใน 1 เดือน จะมีการตกไข่ เพียง 1 ครั้ง และช่วงที่ไข่จะพร้อมรอการผสมในแต่ละเดือนจะมีช่วงเวลาอยู่แค่ 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น
  • ถ้าหากมีการปฏิสนธิหรือมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานี้ ไข่ก็จะไปฝังตัวกับเยื่อบุผนังมดลูกกลายเป็นตัวอ่อน เกิดเป็นการตั้งครรภ์ขึ้น แต่ถ้าไข่ไม่ถูกปฏิสนธิหรือผสมไม่สำเร็จ อีก 14 วันหลังจากนั้นก็จะกลายเป็นประจำเดือน
  • คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าช่วงไหนคือช่วงที่ไข่ตก? โดยปกติร่างกายผู้หญิงจะมีการตกไข่เป็น Cycle หรือก็คือจะมีไข่ตกประมาณวันที่ 14 หลังจากมีรอบเดือนวันแรกและก่อนจะมีรอบประจำเดือนถัดไปอีกประมาณ 14 วัน อย่างไรก็ตาม การตกไข่ของแต่ละคนอาจแตกต่างกันขึ้นกับสุขภาพและการใช้ชีวิตในช่วง ๆ หนึ่ง

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ: นับวันไข่ตก คืออะไร นับยังอย่างไร?

ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใด

ภาวะไข่ไม่ตก

ระบบการทำงานที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนสำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนจากวัยเด็กมาเป็นวัยรุ่น และตอนที่รังไข่ใกล้จะหยุดทำงาน ได้แก่ ช่วงที่ผู้หญิงใกล้จะหมดประจำเดือน การทำงานของฮอร์โมนจะไม่สม่ำเสมอเหมือนในช่วงวัยเจริญพันธุ์

  1. ผลข้างเคียงจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
    ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS : Polycystic Ovarian Syndrome) โดย PCOS คือ กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของหลาย ๆ ระบบ ทำให้เกิดการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตกไข่ เกิดเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ ในรังไข่ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
  2. ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (POI)
    ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (POI : Premature Ovarian Insufficiency) ภาวะที่รังไข่หยุดการทำงานก่อนอายุ 40 ปี หากรังไข่เสื่อม ก็จะไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ตามปกติหรือตกไข่ได้ตามปกติ จึงทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
  3. ภาวะไข่ตกน้อยลง (DOR)
    เมื่อปริมาณไข่ในรังไข่ลดลงอาจทำให้คุณไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ นอกจากเรื่องของช่วงอายุ และการเสื่อมสภาพตามวัยแล้ว สาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ก็อาจส่งผลให้คุณมีจำนวนไข่ในรังไข่น้อยลงได้อีกด้วย
    • การสูบบุหรี่
    • มีประวัติการรักษาด้วยรังสี เคมีบำบัด และการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับรังไข่
    • โรคที่เชื่อมโยงกับท่อนำไข่
    • ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
    • ความผิดปกติทางพันธุกรรม
    • ภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ
  4. ความผิดปกติของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง
    ไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมองมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนมากระตุ้น และยับยั้งการทำงานต่อมใต้สมองส่วนหน้าและยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนของต่อมใต้สมองส่วนหลัง ผลของ prolactinoma สร้าง prolactin สูงในผู้หญิงทำให้เกิดการขาดประจำเดือน มีลูกยาก และมีอาการจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง
  5. ฮอร์โมนไม่สมดุล
    • Gonadotropin-releasing hormone (GnRH) ผลิตโดยไฮโปทาลามัส เพื่อกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน FSH ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์ไข่
    • Follicle-stimulating hormone (FSH) คือ ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญของไข่ เป็นฮอร์โมนที่มีผลโดยตรงต่อวงจรของประจำเดือน หากมีระดับ FSH ต่ำเกินไป (มักจะพบในผู้หญิงที่มีอาการของโรค PCOS) หรือสูงเกินไป (อาจพบในผู้หญิงที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด) จะสามารถทำให้เป็นผู้มีบุตรยากได้
    • Luteinizing hormone (LH) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ฮอร์โมนดังกล่าวอยู่ในกลุ่มของฮอร์โมนที่เรียกว่าโกนาโดโทรฟิน (Gonadotropin) โดยฮอร์โมนลูทิไนซิงจะทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ในเพศหญิง หากคุณผู้หญิงมีระดับฮอร์โมน LH ในเลือดสูง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหา รังไข่หยุดทำงานก่อนวัย

เช็กให้ชัวร์ สัญญาณเตือนภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง

  • ขาดประจำเดือนครั้งละหลายเดือน หรือ 2-3 เดือนมา 1 ครั้ง บางคนอาจมีประจำเดือนปีละ 1-2 ครั้ง
  • ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ แต่เมื่อเป็นประจำเดือนก็จะเป็นนานกว่าปกติหรือมีปริมาณมากผิดปกติ
  • หน้าเป็นสิว ผิวมัน
  • ️เป็นภาวะมีบุตรยาก
ไลน์ ปรึกษาแพทย์ฟรี คลิก

การวินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง

ไข่ไม่ตก ท้องได้ไหม

สำหรับขั้นตอนการวินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับรอบเดือน หากประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดเป็นระยะเวลานาน แพทย์จะทำการตรวจฮอร์โมนเพศหญิงด้วยวิธีการเจาะเลือด (Progesterone Blood Test) โดยการตรวจดังกล่าวจะเป็นการตรวจระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของรอบเดือน ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะมีค่าสูงขึ้นหลังจากมีการตกไข่ ดังนั้นหากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่ได้มีระดับเพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นการแสดงว่าไม่มีการตกไข่เกิดขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้แพทย์อาจจะตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูขนาด รูปร่างของมดลูกและรังไข่ ซึ่งยังสามารถตรวจได้ว่ารังไข่มีลักษณะเป็นถุงน้ำหรือไม่ (PCOS : Polycystic Ovarian Syndrome) โดยการอัลตราซาวนด์สามารถใช้ตรวจดูการเจริญเติบโตของ Follicle และการตกไข่ อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นวิธีที่จำเป็นต้องอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดูหลายครั้ง โดยจะเว้นระหว่างช่วง 1-2 สัปดาห์

อยากมีลูก ไม่ท้องสักที รีบปรึกษาแพทย์ ก่อนถึงวัยมีลูกยาก ปนึกษาแพทย์ฟรี คลิก

แนวทางการรักษาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง

สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะไข่ไม่ตก ได้แก่

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ยากระตุ้นไข่ตกที่มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ยารับประทานและยาฉีด ยารับประทานแพทย์มักให้เริ่มทานในช่วงวันที่ 3-5 ของการมีประจำเดือนวันละ 1-3 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 วัน ส่วนยาฉีดมักใช้ร่วมกับยารับประทาน หรืออาจใช้ยาฉีดอย่างเดียว แต่ขนาดยาและวันที่ฉีดมีความแตกต่างได้มากตามการปรับยาของแพทย์เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน
  • โดยยาเหล่านี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ไปซื้อยาใช้เอง เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้

การใช้ยากระตุ้นไข่

กินยาฮอร์โมนเสริม หากเกิดจากสาเหตุ เช่น ผอมเกินไป อ้วนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดปกติหรือเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เบื้องต้นเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ คุณหมออาจจ่ายยาฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกับยาเลื่อนประจำเดือนที่เราคุ้นเคย 

ซึ่งเมื่อกินยาแล้ว จะทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติมากขึ้น โดยอาจให้กินยาเป็นประจำในช่วงเดียวกันของทุกๆ เดือน ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ เยื่อบุโพรงมดลูกสามารถหลุดลอกออกมาได้ และหลังจากนั้นให้ลองดูว่าประจำเดือนมาได้เองโดยไม่จำเป็นต้องกินยาหรือไม่

การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่ 

การผ่าตัดรักษาถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เพื่อกำจัดส่วนที่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน มีส่วนช่วยให้การตกไข่กลับมาเป็นปกติด้วยการผ่าตัดจี้รังไข่ แต่อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้จะส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น

คำถามที่พบบ่อย

ไข่ไม่ตกสามารถท้องได้ไหม?

เมื่อมีภาวะไข่ไม่ตก ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เนื่องจากไม่มีไข่สำหรับการปฏิสนธิ หากผู้หญิงมีการตกไข่ที่ไม่ปกติก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยลง เนื่องจากมีการตกไข่บ่อยน้อยกว่าปกติ

ไข่ไม่ตกแต่ท้อง เกิดจากอะไร?

ในกรณีที่ตรวจแล้วพบว่า ไข่ไม่ตก หรือเข้าใจว่าเป็นภาวะไข่ไม่ตกจากการตรวจแผ่นเทสต์ผ่านปัสสาวะ แต่สุดท้ายตั้งครรภ์อาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนของการตรวจซึ่งไม่ได้มีความแม่นยำ 100% โดยหากสงสัยว่าตัวเองไข่ไม่ตก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญหรือตรวจลึกถึงระดับฮอร์โมนการตกไข่จะมีความแม่นยำกว่า

ข้อสรุป

ภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะมีบุตรยาก ผู้หญิงที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการเจริญของไข่และการตกไข่ มักจะมีรอบประจำเดือนที่ไม่ปกติ ซึ่งสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังมาจาก ผลข้างเคียงจากภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย ภาวะไข่ตกน้อยกว่าปกติ ฮอร์โมนไม่สมดุล

ภาวะไข่ไม่ตก สามารถรักษาได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมในการทานอาหาร การใช้ยากระตุ้นไข่ รวมถึงการผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) หากใครมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดไปนานควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาได้ทัน ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงท่านไหนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf

อ้างอิง

Butler. (n.d.-b). Understanding anovulation: causes, symptoms, and diagnosis. https://fertility.womenandinfants.org/services/women/anovulation

Professional, C. C. M. (n.d.-b). Anovulation. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21698-anovulation

WebMD Editorial Contributors. (2023, April 23). What is anovulation? WebMD. https://www.webmd.com/infertility-and-reproduction/what-is-anovulation