สาเหตุของการมีบุตรยาก สามารถตรวจได้จากฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งสำหรับฝ่ายหญิง ฮอร์โมน AMH (Anti-Mullerian Hormone) สามารถบ่งบอกได้ว่าคุณเป็นผู้มีบุตรยากหรือไม่ โดยฮอร์โมนตัวนี้มีความเกี่ยวข้องกับรังไข่ที่เป็นส่วนสำคัญหลักในการสืบพันธุ์ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบว่าจริงๆแล้วฮอร์โมน AMH ทำหน้าอย่างไร สำคัญแค่ไหน แล้วเมื่อพบว่าฮอร์โมน AMH ไม่สมดุลหมายถึงอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไร
ทำความรู้จัก ‘ฮอร์โมน AMH’
ฮอร์โมน AMH (Anti-Mullerian Hormone) คือ ฮอร์โมนที่ถูกสร้างมาจากเซลล์ไข่ในรังไข่ของผู้หญิง เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่และบอกจำนวนไข่ที่สามารถผลิตได้ในขณะนั้น ฮอร์โมน AMH จะมีค่าสูงในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และลดลงเรื่อยๆจนหมดไปเมื่อมีอายุมากขึ้นหรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
ทำไมต้องตรวจฮอร์โมน AMH
- ช่วยประเมินความสามารถของการทำงานของรังไข่เพื่อประเมินโอกาสการตั้งครรภ์และช่วยให้แพทย์แนะนำวิธีการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น
- ค่า AMH เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้แพทย์ประเมินว่า ควรให้การกระตุ้นรังไข่มากน้อยแค่ไหนจึงเหมาะสม เพื่อประกอบการรักษาภาวะมีบุตรยาก
- ค่า AMH ที่สูง ใช้ช่วยประเมินภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) ร่วมกับการประเมินอื่นๆ ได้เหมาะกับคุณผู้หญิงหรือคู่สมรสที่เตรียมตั้งครรภ์ในอนาคต
การตรวจฮอร์โมน AMH กับการตั้งครรภ์
การตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH จะเป็นการตรวจเพื่อทดสอบสมรรถภาพของรังไข่ โดยการเจาะเลือดสามารถบอกได้ว่ารังไข่ทำงานปกติหรือไม่ รวมถึงสามารถวัดได้ว่าในรังไข่ยังมีไข่สะสมอยู่มากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมินโอกาสการตั้งครรภ์ และยังช่วยให้แพทย์แนะนำแนวทางเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้กับคุณผู้หญิงได้มากขึ้น
อีกทั้งในกระบวนการเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ไม่ว่าจะเป็น IVF หรือ ICSI นั้นต่างก็ใช้ค่าบ่งชี้ของ AMH ในการทำนายว่า รังไข่จะสามารถตอบสนองการกระตุ้นไข่ด้วยยาที่ใช้มากแค่ไหน และควรใช้ปริมาณยามากน้อยเท่าไหร่ เพื่อให้มีการผลิตไข่ออกมาในปริมาณที่เหมาะสม
ขั้นตอนการตรวจฮอร์โมน AMH
- พยาบาลจะซักประวัติของคุณแม่เบื่องต้นก่อน
- พยาบาลจะพาไปชั่งน้ำหนัก วัดความดัน เสร็จแล้วพยาบาลจะพาไปพบแพทย์
- พบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ เช่น โรคประจำตัว ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เคยมีประวัติความผิดปกติของโครโมโซมไหม ประวัติโรคประจำตัวของคนในครอบครัว
- เจาะเลือด และนำไปตรวจ AMH เพื่อหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นและตรวจการทำงานของรังไข่
- รอผลตรวจ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
ค่าปกติของฮอร์โมน AMH
- ฮอร์โมน AMH มากกว่า 4 ng/ml ถือว่าเป็นภาวะฮอร์โมนสูง สามารถบอกถึงสุขภาพภายในของฝ่ายหญิงได้ว่า อาจเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome)
- ฮอร์โมน AMH อยู่ในช่วง 1 – 4 ng/ml เป็นค่าฮอร์โมนปกติ
- ฮอร์โมน AMH อยู่ในช่วง 0.3 – 1 ng/ml ถือว่าเป็นภาวะฮอร์โมนที่ค่อนข้างต่ำ สามารถบอกถึงสุขภาพภายในของฝ่ายหญิงได้ว่า มีจำนวนไข่อยู่ค่อนข้างน้อย เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก
- ฮอร์โมน AMH น้อยกว่า 0.3 ng/ml ถือว่าเป็นภาวะฮอร์โมนต่ำ สมารถบอกถึงสุขภาพภายในของฝ่ายหญิงได้ว่า ตอนนี้จำนวนไข่เหลืออยู่จำนวนน้อยมากแล้ว มีภาวะบุตรยากสูง หากต้องการมีบุตรต้องปรึกษาแพทย์
ระดับค่า AMH ตามช่วงวัยและอายุ
- ช่วงอายุ 18-24 ปี ค่าฮอร์โมน AMH 2.15-8.40 ng/mL
- ช่วงอายุ 25-29 ปี ค่าฮอร์โมน AMH 1.20-8.76 ng/mL
- ช่วงอายุ 30-34 ปี ค่าฮอร์โมน AMH 0.80-7.00 ng/mL
- ช่วงอายุ 35-39 ปี ค่าฮอร์โมน AMH 0.11-5.15 ng/mL
- ช่วงอายุ 40-44 ปี ค่าฮอร์โมน AMH 0.10-3.84 ng/mL
ใครบ้างที่ควรตรวจฮอร์โมน AMH
- ผู้หญิงที่ต้องการตรวจว่ามีไข่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์หรือไม่
- ผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และพยายามตั้งครรภ์มานานกว่า 12 เดือน
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และพยายามตั้งครรภ์มานานกว่า 6 เดือน
- ผู้หญิงที่ต้องการฝากไข่ เพื่อวางแผนการมีบุตรในอนาคต
- ผู้หญิงที่ผ่านการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดรังไข่
- ผู้หญิงที่มีความจำเป็นต้องรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด หรือต้องผ่าตัดรังไข่ในระยะอันใกล้
คำถามที่พบบ่อย
ควรตรวจฮอร์โมน AMH ช่วงไหนของรอบเดือน
ระดับของฮอร์โมน AMH ไม่มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของรอบเดือน ตรวจวันใดก็ได้และไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้า
หากผลตรวจค่าฮอร์โมน AMH ไม่ปกติ สามารถตั้งครรภ์ได้ไหม
มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ แต่หากค่าฮอร์โมน AMH ไม่ปกติจะเข้าข่ายเป็นผู้มีบุตรยาก เนื่องจากฮอร์โมน AMH จะเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการทำงานของรังไข่
มีวิธีที่ช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมน AMH หรือไม่ อย่างไร
การดูแลให้ระดับฮอร์โมน AMH มีความสมดุลเป็นสิ่งที่ดี และทำได้การกินอาหารที่ช่วยให้ไข่ในรังไข่แข็งแรง และช่วยกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมน AMH มีความสมดุล มีดังนี้
- วิตามินดี (Vitamin D) วิตามินดีมีส่วนช่วยให้การปรับสมดุลฮอร์โมน AMH ซึ่งรวมถึงการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่ด้วย เพราะระดับฮอร์โมน AMHสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการขาดวิตามินดีด้วย อาหารที่มีวิตามินดี คือ ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลม่อน น้ำส้มสด นมถั่วเหลือง ตับวัว ซีส ไข่แดง
- โอเมก้า-3 (Omega-3) ช่วยพัฒนาคุณภาพไข่ และบำรุงให้รังไข่แข็งแรงได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุมาก การกินโอเมก้า 3 เป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานานจะช่วยป้องกันความเสื่อมของรังไข่ได้ แม้ในการกินโอเมก้า 3 เป็นเวลาสั้นๆ ก็ช่วยกระตุ้นคุณภาพของไข่ในรังไข่ได้ อาหารที่มีโอเมก้า3 คือ ปลาแซลม่อน ปลาทูน่า ปลาเฮอร์ริง ปลาซาดีน ถั่ววอลนัต เมล็ดเจีย เมล็ดแฟล็ก น้ำมันเมล็ดแฟล็ก น้ำมันถั่วเหลือง ไข่ โยเกิร์ต น้ำผลไม้
- โคคิวเท็น (CoQ-10) เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น กระบวนการทำงานของร่างกายในส่วนที่ช่วยผลิตใยอาหารที่ส่งผลต่อการผลิตโคคิวเท็นจะลดลง ดังนั้นการเพิ่มระดับโคคิวเท็นจึงช่วยกระตุ้นปริมาณและคุณภาพของไข่ในรังไข่ได้ ความบกพร่องในรังไข่ที่สามารถนำไปสู่ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการกินโคคิวเท็น อาหารที่มีโคคิวเท็น คือ เครื่องในสัตว์ (หัวใจ ตับ ไต) เนื้อสัตว์ (เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว) ปลาซดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาเฮอร์ริง ปลาเทราท์ ผักโขม ดอกกระหล่ำ บล็อกโคลี ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ งา ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพิสตาชิโอ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า
- สังกะสี (Zinc) สังกะสีเป็นสารอาหารที่สำคัญในการเจริญเติบโตของไข่ การสุก และการตกไข่ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อฮอร์โมนเอสตราไดออล ซึ่งเป็นอีกฮอร์โมนที่สำคัญต่อภาวะเจริญพันธุ์ ดังนั้นหากขาดสังกะสี ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ อาหารที่มีสังกะสี คือ หอยนางรม ปู กุ้งล็อบสเตอร์ เนื้อวัว เนื้อไก่ ถั่วชนิดต่างๆ ธัญพืช
ข้อสรุป
ฮอร์โมน AMH คือฮอร์โมนที่ผลิตจากการเซลล์ไข่ และสามารถบ่งบอกได้ถึงจำนวนไข่ที่มีในรอบนั้นๆ รวมถึงการทำงานของรังไข่ว่ายังทำงานปกติหรือไม่ หากค่าฮอร์โมน AMH สูงก็จะเสี่ยงกับการเป็นถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) แต่หากมีค่าฮอร์โมน AMH ต่ำ ก็จะบ่งบอกว่าคุณเข้าข่ายเป็นผู้มีบุตรยาก (โดยระดับค่าฮอร์โมน AMH สูงและต่ำ เทียบกับค่าเหลี่ยในช่วงอายุเดียวกัน)
ทั้งนี้การตรวจฮอร์โมน AMH จึงมีความสำคัญกับผู้ที่กำลังวางแผนในการมีลูกเป็นอย่างมาก หากท่านไหนลองวิธีธรรมชาติมาตั้ง 6-12 เดือนแล้วยังไม่ตั้งครรภ์แนะนำให้รีบปรึกษาเพื่อให้แพทย์ช่วยหาแนวทางในการรักษา หากท่านไหนไม่สะดวกเดินทางไปพบแพทย์สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf