ภาวะท้องลม (Blighted Ovum) เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ซึ่งภาวะท้องลมกับตั้งครรภ์ปกติอาจะมีความคล้ายคลึงกัน หลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าถ้าเกิดภาวะท้องลมแล้วจะอันตรายไหม แล้วถ้าเกิดขึ้นมีวิธีการรักษาอย่างไร
ทำความรู้จัก “ภาวะท้องลม” คืออะไร
ภาวะท้องลม (Blighted Ovum) หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะไข่ฝ่อ” เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีทารกอยู่ในครรภ์ เนื่องจากตัวอ่อนไม่แข็งแรง ทำให้เกิดการแท้ง เหลือเพียงถุงตั้งครรภ์ ที่มีเพียงน้ำคร่ำเท่านั้น มักเกิดขึ้นในช่วงระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ อาการนี้มีความเหมือนจริงมาก จนกระทั่งแพทย์ประมาณ 18% มองดูอาการภายนอก ยังเชื่อเลยว่ากำลังตั้งท้องจริงๆ อีกด้วย
ท้องลม ไม่ใช่ ท้องหลอก
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้ว ท้องหลอก เป็นคนละอาการกัน เนื่องจากท้องหลอกเป็นความผิดปกติทางใจ โดยสามารถอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของคำว่าท้องหลอกได้ ดังนี้
ในทางการแพทย์ อาการท้องหลอก (Pseudocyesis) เป็นอาการผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คุณผู้หญิงคิดว่า ตัวเองกำลังตั้งครรภ์อยู่ โดยมักจะรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเหมือนคนท้อง ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม ประจำเดือนขาด รู้สึกว่าท้องโตขึ้น บางคนคิดว่าลูกกำลังดิ้น
แต่เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายดูแล้ว กลับไม่พบสิ่งที่แสดงว่าตั้งครรภ์ เช่น ตรวจอัลตราซาวด์แล้ว ไม่พบการตั้งครรภ์ เป็นต้น ไม่เหมือนกับกรณีของภาวะไข่ฝ่อ ที่แพทย์จะตรวจพบการตั้งครรภ์จริง และมีอาการที่บ่งชี้ว่ามีการตั้งครรภ์
ดังนั้น อาการท้องหลอก จึงมักเป็นเรื่องทางใจเป็นหลัก ซึ่งอาจเกิดจากความคาดหวังที่จะมีลูก อยากมีลูก หรือความเครียด อย่างไรก็ตาม เพื่อความแน่ใจ แพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัย โดยละเอียดเพิ่มเติมด้วย เพราะผู้ป่วยอาจมีโรค หรือความผิดปกติทางกาย ที่แสดงออกมาคล้ายว่าจะตั้งครรภ์ได้ เช่น น้ำนมไหล จากการมีกลุ่มฮอร์โมนบางกลุ่มมากเกินไป เป็นต้น
ท้องลม เกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะท้องลมยังไม่สามารถอธิบายได้ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตัวอ่อนไม่แข็งแรง จึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ มดลูกของแม่ไม่แข็งแรง เป็นต้น
ภาวะท้องลม เกิดกับใครได้บ้าง
ภาวะท้องลม สามารถเกิดได้กับผู้หญิงได้ทุกคนและทุกช่วงอายุ ภาวะนี้จะไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นความผิดปกติทางธรรมชาติ และยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น
สัญญาณเตือนท้องลม มีอาการอะไรบ้าง
อาการนี้จะมีลักษณะการเหมือนกับคนท้องทั่วไป เพราะร่างกายจะมีการสร้าง HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนของคนท้องขึ้นมา แต่จะสร้างในปริมาณที่น้อยกว่า จึงทำให้มีอาการเดียวกับคนท้อง เช่น รอบเดือนขาด คัดเต้านมบ่อย คลื่นใส้ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะพบว่าตัวเองเป็นภาวะนี้ ตอนที่ไปฝากครรภ์ และตอนอัลตราซาวด์ตรวจอย่างละเอียด
การวินิจฉัยภาวะท้องลม
การตรวจวินิจฉันภาวะท้องลม แพทย์จะทำการอันตร้าซาวด์ที่หน้าท้องและพบถุงตั้งครรภ์ แต่ไม่พบทารกในครรภ์ หากวัดขนาดของถุงน้ำคร่ำแล้วมีขนาดใหญ่กว่า 20-25 มิลลิเมตร โดยที่ยังไม่พบตัวอ่อนอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ก็จะมีการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วง 1-2 สัปดาห์ ถ้าตรวจแล้วยังไม่พบตัวอ่อนในถุงน้ำคร่ำอีก ก็จะยืนยันว่าเป็นภาวะท้องลม
วิธีการรักษาภาวะท้องลม
เมื่อตรวจวินิจฉัยพบว่า เป็นภาวะนี้ การรักษาแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
- กรณีที่ถุงการตั้งครรภ์ สามารถหลุดลอกออกมาได้เองทั้งหมด และไม่มีอาการแทรกซ้อนที่อันตราย ก็ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา โดยการขูดมดลูก
- แต่หากในกรณีที่ผู้ป่วยบางราย ที่ร่างกายไม่สามารถขับถุงการตั้งครรภ์ออกมาได้เองจนหมด และตรวจพบว่ามีเยื่อบุใด ๆ เหลือตกค้างอยู่ ก็จะทำการรักษาโดยการขูดมดลูก เพื่อเอาเยื่อบุ หรือชิ้นเนื้อภายในโพรงมดลูกออกมา เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เข้าไปภายในโพรงมดลูก
ท้องลม ไม่ขูดมดลูกได้ไหม
เมื่อเกิดภาวะท้องลม แต่ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆก็ไม่จำเป็นต้องขูดมดลูกและปล่อยให้หลุดลอกออกมาเองได้ แต่เมื่อมีอาการแทรกซ้อนหรือถุงตั้งครรภ์หลุดออกมาไม่หมดก็จำเป็นต้องขูดมดลูก
ภาวะท้องลม ป้องกันได้ไหม
ภาวะท้องลมถือเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่หากมีการฝากครรภ์ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ ถ้าเป็นภาวะนี้แพทย์ก็จะตรวจเจอแต่แรกๆ และสามารถทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทุกคนควรฝากครรภ์เพื่อรักษาร่างกายของคุณแม่และลูกในครรภ์ให้แข็งแรงปลอดภัยจนถึงวันที่คลอด
เกิดภาวะท้องลมหลายครั้ง อาจเสี่ยงมีบุตรยาก
ข้อสรุป
ภาวะท้องลมเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ โดยมีการเติบโตของรกและถุงการตั้งครรภ์ แต่ตัวอ่อนฝ่อไปก่อน เมื่อตรวจด้วยการอัลตราซาวด์จะพบว่า มีแต่ถุงการตั้งครรภ์เปล่าแต่ไม่พบตัวอ่อน ผู้หญิงทุกวัยมีโอกาสที่จะพบภาวะนี้ได้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ทางพันธุกรรมของตัวคุณผู้หญิงเอง โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และประวัติการตั้งครรภ์ในอดีต นอกจากนี้อาจมาจากโครโมโซมที่ผิดปกติของคุณผู้ชายได้อีกด้วย
การฝากครรภ์และรับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรารู้ว่ากำลังมีภาวะเสี่ยงต่ออาการผิดปกติของครรภ์หรือไม่ ช่วยให้วางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที