วิตามินเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่เริ่มมองหาเมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ซึ่งวิตามินจะช่วยบำรุงลูกให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องรับประทาน โฟลิก (Folic acid) เป็นวิตามินยอดนิยมที่คุณหมอมักจะแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทาน แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบว่ากรดโฟลิกคืออะไร ช่วยป้องกันอะไรได้บ้าง ต้องเสริมกรดโฟลิกอย่างไร แล้วสามารถเริ่มทานได้ตั้งแต่ตอนไหน มีวิธีรับประทานอย่างไร สามารถซื้อทานเองได้ไหม บทความนี้จะช่วยตอบทุกข้อสงสัยสำหรับคุณแม่มือใหม่
กรดโฟลิก (Folic Acid)
กรดโฟลิก (Folic Acid) คือ วิตามินบี 9 เป็นวิตามินสำคัญสำหรับผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้ว เพราะจะช่วยสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ ภายใน 28 วันแรก หลังเกิดการปฏิสนธิ
อีกทั้งยังช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท ทั้งภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิดจากการขาดโฟลิก จึงแนะนำสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะคนที่กำลังจะแต่งงาน ให้กินวิตามินโฟลิก ซึ่งควรกิน 1 เม็ดทุกวัน ในช่วง 3 เดือนก่อนต่อเนื่องจนถึงตั้งท้อง 3 เดือนแรก
กรดโฟลิกมีประโยชน์อย่างไร
เมื่อเด็กเกิดมามีภาวะไม่มีสมองหรือกะโหลกศีรษะจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อย ส่วนเด็กที่เป็นโรคที่มีความบกพร่องของไขสันหลังจะพิการไปตลอดชีวิต การรับประทานโฟลิกจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้กับทารกในครรภ์ และยังลดความเสี่ยงของภาวะหลอดประสาทไม่ปิด
อีกหนึ่งประโยชน์สำคัญของกรดโฟลิก คือ กรดโฟลิกจะช่วยลดความเสี่ยงโรคปากแหว่งเพดานโหว่ การแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด และยังช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง โรคหัวใจ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองในของคุณแม่อีกด้วย
กรดโฟลิกกับการตั้งครรภ์
กรดโฟลิกมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างหลอดประสาทซึ่งจะพัฒนาไปเป็นระบบประสาท (สมองและไขสันหลัง) ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 28 วันแรกหลังจากมีการปฏิสนธิ และยังช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนที่ใช้ในการสร้างโลหิต
ดังนั้นหากคุณแม่ขาดโฟลิกจะทำให้เกิดความพิการของทารกจากการสร้างหลอดประสาทไม่สมบูรณ์ รวมทั้งทำให้คุณแม่เกิดภาวะซีดหรือโลหิตจางได้ด้วย
ควรรับประทานกรดโฟลิกตอนไหน
คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากมีลูก สามารถรับประทานกรดโฟลิกหรือโฟเลตได้ตั้งแต่เริ่มวางแผนมีบุตร หรือก่อนตั้งครรภ์ 1-3 เดือน และทานต่อเนื่องจนอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ เพราะในช่วงอายุครรภ์ที่ 3-4 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ จะเป็นช่วงที่พัฒนาการของสมองและระบบประสาทของทารกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คำแนะนำสำหรับการรับประทานกรดโฟลิก
คำแนะนำสำหรับการรับประทานกรดโฟลิกที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ คือ
- ช่วงก่อนตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัมต่อวัน
- ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ควรได้รับอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมต่อวัน
- ช่วงเดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ (ไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์) ควรได้รับ 600 ไมโครกรัมต่อวัน
- ช่วงให้นมบุตรควรได้รับ 500 ไมโครกรัมต่อวัน
ผลข้างเคียงหากรับประทานกรดโฟลิกมากเกินพอดี
การรับประทานกรดโฟลิกมากเกินไปจะเกิดผลเสีย และทำให้ทารกเสี่ยงเป็นโรคออทิสติก ถ้าหากทารกเป็นเพศหญิงอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนเมื่อโตขึ้น
อาหารที่มีโฟลิกสูง มีอะไรบ้าง
- บรอกโคลี มีสารอาหาร วิตามิน และโฟลิกสูง ซึ่งบร็อคโคลี่ 1 ถ้วย ทำให้เราได้รับกรดโฟลิกมากถึง 26% ของจำนวนที่ร่างกายต้องการต่อวัน
- ผักโขม ผักโขมเป็นผักใบเขียวที่มีกรดโฟลิกสูงมาก เมื่อเทียบกับบรอกโคลีแล้วผักโขมมีโฟลิกสูงมากกว่าถึง 3 เท่า เหมาะสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
- ไข่ เป็นอาหารที่มีประโยชน์และยังมีกรดโฟลิกอีกด้วย ซึ่งในไข่ไก่ 1 ฟอง จะมีโฟลิกประมาณ 44 ไมโครกรัม
- ข้าวโพด นอกจากจะมีวิตามินแล้วในข้าวโพดยังมีกรดโฟลิกอีกด้วย
- อาโวคาโด เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าอาหารและไขมันดีสูง และในอาโวคาโดยังมีกรดโฟลิกสูงอีกด้วย
- แคนตาลูป เป็นผลไม้ที่มีกรดโฟลิกสูงและเหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างมาก
- เมล็ดทานตะวัน นอกจากจะเป็นของว่างทานเล่นได้แล้ว ในเมล็ดทานตะวันยังมีกรดโฟลิกด้วย
- ถั่วแดง นอกจากโปรตีนสูงแล้ว ถั่วแดงยังมีโฟลิกสูงที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ใช่แค่ถั่วแดงที่มีกรดโฟลิก แต่ในถั่วชนิดอื่นก็มีกรดโฟลิก เช่น ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
ข้อสรุป
กรดโฟลิก (Folic Acid) คือ วิตามินที่ช่วยเสริมสร้างหลอดประสาทให้กับทารก ช่วยลดความพิการในทารกตั้งแต่กำเนิด และมีประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างมากไม่ว่าจะเป็น ช่วยลดความเสี่ยงการแท้งบุตร ช่วยลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนด รวมถึงโรคเลือดในสมองของคุณแม่ตั้งครรภ์
การรับประทานกรดโฟลิกช่วยสร้างประโยชน์ให้กับคุณแม่และทารกได้มากมาย แต่ไม่แนะนำให้ซื้อมาทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้ หรือคุณแม่ท่านไหนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf