อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflamatory Disease) เชื่อว่าผู้หญิงหลายๆคนไม่รู้จักและไม่ทราบว่าอุ้งเชิงกรานอักเสบคืออะไร เพราะอาการที่แสดงออกมาส่วนมากจะคล้ายๆกับคนเป็นประจำเดือนปกติ เลยอาจจะทำให้แยกไม่ออกว่าคืออาการอะไรกันแน่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอุ้งเชิงกรานอักเสบกัน ว่าคืออะไร อันตรายมากไหม รักษาอย่างไร และมีวิธีป้องกันหรือไม่
อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) คืออะไร?
อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflamatory Disease) คือ การติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง บริเวณมดลูก ปีกมดลูก และท่อนำไข่ ซึ่งการติดเชื้อนั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หรือหนองในเทียม ซึ่งมักเกิดบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก หากไม่ทำการรักษาก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปบริเวณอื่นในระบบสืบพันธุ์ได้ โดยโรคนี้มักเกิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 25 ปี หรือน้อยกว่านั้น และยังส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือท้องน้อย
- รู้สึกเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ
- รู้สึกเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะหลังหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น อาจมีสีเขียวหรือสีเหลือง
- ประจำเดือนมามาก
ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงขึ้นหากมีอาการดังนี้ควรรีบไปพบแพทย์
- ไม่สบายตัว หนาวสั่น มีไข้
- ปวดท้องรุนแรง
การวินิจฉัยภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
1. การซักประวัติผู้ป่วยอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ซักประวัติสุขภาพ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาคุมกำเนิด ประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ความรุนแรง
2. การตรวจร่างกายและตรวจภายในผู้ป่วยอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- ประเมินภาวะไข้และอาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
- ตรวจหาสารคัดหลั่งผิดปกติจากช่องคลอดและปากมดลูก
- ตรวจคลำอาการกดเจ็บ หรือก้อนในอุ้งเชิงกรานว่าบวมอักเสบหรือไม่
3. การตรวจชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก
การสุ่มตัดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูกผ่านทางปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อและการอักเสบของอุ้งเชิงกราน
4. การตรวจอัลตราซาวน์
ตรวจอัลตราซาวน์เพื่อประเมินความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
5. การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก
การผ่าตัด ในบางกรณีอาจใช้การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือ Laparoscopy โดยสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปดูอวัยวะภายใน และถ้ามีความจำเป็นอาจต้องเก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อเพิ่มด้วย การผ่าตัดในลักษณะนี้อาจทำกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ที่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
การมีแผลเป็นจากการอักเสบหรือเคยเป็นฝีในท่อนำไข่ อาจทำให้ไข่ไม่สามารถผ่านเข้าไปในมดลูกได้ ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการตั้งครรภ์ ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่เป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบจะประสบภาวะมีบุตรยาก ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า
คำถามที่พบบ่อย
อุ้งเชิงกรานอักเสบ รักษาที่บ้านได้ไหม
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง และรักษาด้วยวิธีการการรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่หากกรณีมีอาการรุนแรงเช่น มีไข่สูง คลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่รับประทาน หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นขณะมีการตั้งครรภ์ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินต่อไป
อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นซ้ำได้ไหม?
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติอุ้งเชิงกรานอักเสบที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสอาจเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งมากกว่าผู้ใหญ่
เป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ ก่อนไปพบแพทย์ ควรเตรียมตัวอย่างไร?
ก่อนเข้าปรึกษาแพทย์เมื่อคุณเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหลังจากทำนัดหมายเพื่อเจอแพทย์แล้วควรสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติก่อนเข้าพบแพทย์ บันทึกลักษณะอาการต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งที่มีความเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวกับภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ จดชื่อยาและอาหารเสริมต่างๆที่รับประทานอยู่ขณะนั้นไป รวมไปถึงตัวยาที่มีอาการแพ้ (ในกรณีผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยา)
อุ้งเชิงกรานอักเสบ กินยาอะไร?
หากมีอาการปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องน้อย ผู้ป่วยสามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ร่วมกับยาปฏิชีวนะได้
อุ้งเชิงกรานอักเสบ กี่วันหาย?
อุ้งเชิงกรานอักเสบ สามารถรักษาหายได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ถ้ารักษาผิดวิธี หรือรักษาช้าเกินไป สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งมาจากการที่เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังท่อนำไข่ ดังนั้นหากมีอาการที่ผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที
อุ้งเชิงกรานอักเสบ หายเองได้ไหม?
อุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงกว่าตามมา เช่น การเจ็บปวดจากภาวะอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง ฝีที่ท่อนำไข่หรือรังไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก และภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น
ข้อสรุป
อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflamatory Disease) คือ การติดเชื้อบริเวณ มดลูก ปีกมดลูก ท่อนำไข่ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการอุ้งเชิงกรานอักเสบสังเกตุได้เมื่อปวดท้องน้อย เจ็บเวลาปัสสาวะ เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวผิดปกติ ซึ่งวิธีการรักษาคือพบแพทย์ แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้ทานหากไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก แต่หากท่านไหนมีอาการรุนแรงอาจจะต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด