ในปัจจุบันภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงหลายๆซึ่งไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่มีอายุเข้าเลข 3 แต่กลับพบในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่านั้นอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันผู้หญิงมีวิถีในการดำเนิดชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำงานหนักมากขึ้นส่งผลให้เกิดความเครียด เมื่องานเยอะขึ้นทำให้พักผ่อนน้อยขึ้นพักผ่อนไม่เพียงพอ ทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดคืออะไร เกิดมาจากสาเหตุอะไร อาการที่บ่งบอกว่ากำลังเข้าสู่ภาวนี้มีอะไรบ้าง และมีวิธีรักษาอย่างไร
- ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Failure)
- รังไข่เสื่อมก่อนวัยเกิดจากสาเหตุใด
- อาการสัญญาณเตือนรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- ใครบ้างที่เสี่ยงภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
- การวินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย
- การรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย
- แนวทางการดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย
- วิธีป้องกันรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- ข้อสรุป
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Failure)
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Failure) คือ ภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ทั้งที่ปกติแล้วรังไข่ควรจะหยุดทำงานเมื่ออายุเข้า 45-55 ปี เมื่อรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดเท่ากับว่า รังไข่จะไม่ตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมน Folliclular Stimulating Hormone (FSH) จากต่อมใต้สมองที่เป็นฮอร์โมนควบคุมให้รังไข่ทำงาน
ซึ่งเมื่อฮอร์โมน FSH ไม่ทำงาน จะส่งผลให้มีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อยไม่มีแรง อารมณ์แปรปรวน ผิวแห้ง กระดูกพรุน เหงื่อออกตอนกลางคืน เหมือนกับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
รังไข่เสื่อมก่อนวัยเกิดจากสาเหตุใด
1. ความผิดปกติของโครโมโซม
ความผิดปกติทางโครโมโซมที่พบบ่อยมากที่สุดคือ Turner Syndrome ซึ่งจะมีการพัฒนาของรังไข่เป็นปกติ ขณะเป็นทารกในครรภ์ แต่จะมีการฝ่อของฟองไข่อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางรายเริ่มมีการเสื่อมของฟองไข่หรือถูกทำลายตั้งแต่ในช่วงที่เป็นทารกเลย หรือในช่วงวัยเด็ก ทำให้หยุดทำงานเร็วกว่าคนทั่วไป
2. ภูมิคุ้มกันของตนเอง
สาเหตุที่มาจากภูมิคุ้มกันของตัวเอง ได้แก่ โรคพุ่มพวง (SLE) โรคภูมิต้านทานตนเองของต่อมไทรอยด์ (Autoimmune Thyroid Disorder) โรคพาราไทรอยด์ บางรายถ้าได้รับการรักษาการทำงานของรังไข่อาจจะกลับมาทำงานปกติได้อีก
3. สาเหตุจากการผ่าตัด
หลังจากการผ่าตัด พบว่าการผ่าตัดบริเวณรังไข่บางครั้ง อาจทำให้ปริมาณฟองไข่ลดลงจากการบาดเจ็บหรือตัดเอาเนื้อรังไข่ออกไป อาจจะมีการรบกวนเส้นเลือดที่คอยมาเลี้ยงรังไข่ทำให้เนื้อรังไข่ขาดเลือดและไม่ทำงาน
4. การอักเสบติดเชื้อ
การติดเชื้อ เช่น คางทูม วัณโรค มาเลเรีย พบได้น้อยมาก แต่ก็มีรายงานการเกิดภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควรได้ ส่วนใหญ่เมื่อรักษาจนหายจากการติดเชื้อ รังไข่ก็มักจะกลับมาทำงานได้ปกติ
5. การให้เคมีบำบัด
การให้เคมีบำบัดหรือการได้รับรังสีจากการฉายแสงรักษา หากได้รับรังสีในปริมาณที่มากหลาย ๆ ครั้ง หรือได้รับยาเคมีบำบัดปริมาณมาก ก็จะมีผลทำลายเนื้อเยื่อของรังไข่ได้ ส่งผลให้รังไข่หยุดทำงาน
6. พฤติกรรมเสี่ยง
ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่หนักขึ้น พักผ่อนน้อยลง ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม รวมไปถึงการสูบบุหรี่ จะทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ยาฆ่าแมลง และโลหะหนักบางชนิด อาจจะเป็นพิษต่อเซลล์เนื้อเยื่อรังไข่ได้เช่นกัน
อาการสัญญาณเตือนรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
อาการที่ส่งสัญญาณเตือนภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด มีดังนี้
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาบ้างขาดบ้าง บางทีก็ทิ้งช่วงนานกว่าปกติ
- มีภาวะมีบุตรยาก
- มีอาการร้อนวูบวาบ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ช่องคลอดแห้ง
- กระสับกระส่ายหรือสมาธิสั้น
- มีความต้องการทางเพศลดลง
- ผิวแห้งง่าย
- ผมร่วง
- นอนหลับยาก
ใครบ้างที่เสี่ยงภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
ผู้ที่เสี่ยงภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ได้แก่
- กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 35 และ 40 ปี
- คนในครอบครอบครัวมีประวัติภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
- การผ่าตัดรังไข่หลายครั้ง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้
- เคยผ่านการได้รับยาเคมีบำบัด เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
หากประจำเดือนขาดเป็นเวลาสามเดือนหรือมากกว่า ควรพบหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ ประจำเดือนขาดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การตั้งครรภ์ ความเครียด การเปลี่ยนแปลงอาหารหรือการออกกำลังกาย แต่ทางที่ดีที่สุด คือการประเมินจากแพทย์ หากรอบเดือนมีการเปลี่ยนแปลงไป
การวินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
1. การซักประวัติ
แพทย์จะซักประวัติเบื่องต้น เช่น มีคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดหรือไม่ ประจำเดือนมาครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ประจำเดือนไม่มานานสุดกี่เดือน หากประจำเดือนขาดไปนานกว่า 1 ปี จะส่งผลให้มีอาการร้อนวูบวาบตามตัวและมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย
2. การตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน
ตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่ที่เรียกว่า ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) จะเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้ หากมีค่าสูงแสดงว่ารังไข่ไม่ทำงานแล้ว (FSH 10-20 mIU/ml คือ ภาวะเสี่ยงวัยทองก่อนวัยอันควร) ตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จะพบมีระดับต่ำ
3. การตรวจอัลตร้าซาวด์
ในการอัลตราซาวด์แพทย์อาจจะใช้เพื่อดูไข่ตั้งต้น หากไม่พบไข่ตั้งต้นเลยแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็น ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ทั้งนี้วิธีที่จะตรวจได้ผลชัดเจนที่สุดจะเป็นวิธีการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย
1. ภาวะมีบุตรยาก
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย จะถือว่าเป็นผู้มีบุตรยากในทันที เนื่องจากรังไข่หยุดทำงานจึงทำให้ไม่เกิดการตกไข่ หรืออาจจะมีการตกไข่บ้างในบางรอบเดือน สำหรับผู้ที่อยากมีลูกอาจจะต้องใช้ยาในการช่วยกระตุ้นไข่ หรือฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) ช่วยทำให้มีการเจริญเติบโตของไข่ และใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้วเข้ามาช่วย
2. โรคกระดูกพรุน
เมื่อรังไข่ไม่ทำงานร่างกายก็จะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีผลต่อการเจริญและความแข็งแรงกระดูก การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงทำให้เกิดโรคกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนซึ่งเสี่ยงต่อกระดูกหักง่ายมากยิ่งขึ้น
การรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย
1. การใช้ฮอร์โมนทดแทน
การรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและบรรเทาอาการร้อนวูบวาบได้ โดยแพทย์มักให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนโดยเฉพาะในกรณีที่ยังมีมดลูกอยู่ การเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะช่วยปกป้องเยื่อบุมดลูกจากการเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นมะเร็งซึ่งเกิดจากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว
2. การทานอาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี
อาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี มีความสำคัญสำหรับการป้องกันโรคกระดูกพรุน แพทย์อาจแนะนำให้ทำการทดสอบความหนาแน่นของกระดูกก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ได้ค่าความหนาแน่นของกระดูกเพื่อเป็นบรรทัดฐาน
3. การรักษาภาวะมีบุตรยากจากปัญหารังไข่เสื่อมก่อนวัย
การรักษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตร ผู้ป่วยที่รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร อาจจะมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นที่สามารถมีการตกไข่เองในบางรอบเดือน และตั้งครรภ์ได้ หรืออาจจะลองใช้ยาช่วยกระตุ้นไข่ หรือฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) ช่วยทำให้มีการเจริญเติบโตของไข่ และตกไข่ได้ ถ้าไม่สามารถกระตุ้นไข่ ก็อาจจะใช้ไข่บริจาคร่วมกับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อช่วยในการมีบุตรได้
แนวทางการดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย
แนวทางการดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย มีดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีความพร้อม
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเลือกทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
- งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- สิ่งสำคัญที่สุดคือการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจความพร้อมของร่างกาย และปรึกษาถึงแนวทางที่จะนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้
- เข้าคลินิกวัยทอง เพื่อรับการรักษา และรับฮอร์โมนเพศหญิงในขนาดต่ำๆ มาทานเพื่อช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดฮอร์โมนเป็นต้น
สำหรับวิธีการเบื้องต้น อาจจะไม่ได้ช่วยฟื้นฟูรังไข่ได้เต็มร้อย แต่ก็ช่วยให้รังไข่นั้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดโอกาสมีลูกยากได้ด้วย
วิธีป้องกันรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด
วิธีป้องกันภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด มีดังนี้
- ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาตัวจากการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด หากต้องการรักษายืดอายุไข่เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ หมอแนะนำให้คุณใช้เทคโนโลยี “การฝากไข่” เพื่อป้องกันไข่ถูกทำลายจากรังสี
- การลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายไข่ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- การทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ทานอาหารสำเร็จรูป อาหารที่มีไขมันสูง ฟาสต์ฟู้ด
- ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพื่อวางแผนการตั้งครรภ์
ข้อสรุป
ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด คือ ภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจจะเกิดกับผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีก็ได้ ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ เช่น ในครอบครัวมีประวัติการเป็นภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด จะทำให้ลูกหลานที่เป็นผู้หญิงก็มีสิทธิ์เกิดภาวะนี้ได้ อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะนี้ คือ รู้สึกร้อนวูบวาบตาม หงุดหงิดง่าย เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป
การรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด แพทย์จะแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน เพื่อช่วยลดอาการร้อนวูบวาบตามตัว ป้องกันโรคกระดูกพรุน และจะให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อปกป้องเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งหากใครกำลังกังวลว่าตนเองจะเข้าสู่ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดสามารถเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและตรวจร่างกายได้
ที่ Beyond IVF ของเราก็มีบริการให้คำปรึกษาครบวงจรเกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้หญิง รวมถึงตรวจเกี่ยวกับภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด หากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf