ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

โรคเนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) เป็นภัยใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน พบบ่อยประมาณร้อยละ 25 ในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป และพบ 1 ใน 3 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมากแต่ สาวๆหลายคนอาจมองข้ามไป แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่ากำลังเป็นเนื้องอกในมดลูก แล้วเนื้องอกในมดลูกคืออะไร ใช่มะเร็งหรือไม่ สามารถรักษาให้หายได้ไหม แล้วสาเหตุมันเกิดมาจากอะไร

Table of Contents

เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids)

เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และเกิดขึ้นที่ตัวมดลูกเป็นส่วนใหญ่ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากเซลล์กล้ามเนื้อของมดลูกที่ผิดปกติ ซึ่งจะเจอในเนื้อมดลูก ในโพรงมดลูก หรือโตเป็นก้อนนูนออกมาจากตัวมดลูก และผู้ป่วยอาจคลำพบได้

เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย ก้อนเนื้องอกอาจเกิดเป็น 1 ก้อนใหญ่หรือก้อนเล็กๆ หลายๆ ก้อน และเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้นจะไปกดทับอวัยวะบริเวณใกล้เคียงจนส่งผลแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

แต่ก็มีในบางรายที่เนื้องอกมดลูกไม่โตขึ้นและไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ซึ่งจะพบได้ในช่วงอายุ 25 – 50 ปี ถ้าเป็นสตรีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เราพบว่าเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูกสามารถฝ่อลงไปเองได้

ทำความรู้จักมดลูก (Uterine)

เนื้องอกมดลูก อาการ

มดลูก (Uterine) ถือว่าเป็นอวัยวะที่แข็งแรงมากอย่างนึงในร่างกายผู้หญิง เพราะมีกล้ามเนื้อเรียงทับกันถึง 3 ชั้น มีลักษณะคล้ายลูกแพร์ มีท่อเชื่อมทั้งหมด 3 ทาง คือ ช่องคลอด ปีกมดลูกด้านซ้าย ปีกมดลูกด้านขวา และกล้ามเนื้อของมดลูกสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างใหญ่ เพื่อไว้รองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์นั้นเอง

เนื้องอกมดลูก เกิดจากสาเหตุใด

เนื้องอกในมดลูก

1. กรรมพันธ์ุ

หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติการเป็นเนื้องอกมดลูกมาก่อน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้กับผู้หญิงคนอื่นในครอบครัวมากขึ้น

2. ฮอร์โมน

การทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงบางประเภท เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์ เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ จึงมีการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติไปด้วย

3. การใช้ยา

การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดจะทำให้ไปกระตุ้นและเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้

4. ความแตกต่างทางร่างกาย

สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนวัย เป็นโรคอ้วน หรือขาดวิตามินดี จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะนี้สูงกว่าคนทั่วไป

ชนิดของเนื้องอกมดลูก มีอะไรบ้าง

อาการเนื้องอกมดลูก

1. เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก (Intramural Fibroid)

เนื้องอกภายในกล้ามเนื้อของมดลูก จะไปขัดขวางการบีบรัดตัวของมดลูก หรือขนาดใหญ่หรือใกล้โพรงมดลูก เป็นผลทำให้มีอาการปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมามาก ในบางรายขนาดเนื้องอกใหญ่มากอาจทำให้มดลูกโตและไปเบียดอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดความผิดปกติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบก้อนเนื้องอกได้บ่อยที่สุด

2. เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal Fibroid)

เนื้องอกประเภทนี้มักจะไม่มีอาการ ขนาดมักจะใหญ่ อาการที่เกิดมักเกิดจากขนาดของก้อนไปกดเบียดอวัยวะอื่น เช่น กดกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อย กดลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดอาการท้องผูก หรือกดท่อไตทำให้ท่อไตบวม การทำงานของไตแย่ลงอาจทำให้เกิดภาวะไตวาย

3. เนื้องอกที่โพรงมดลูก (Submucosal Fibroid)

เนื้องอกชนิดนี้อยู่ในกล้ามเนื้อใต้เยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้พื้นผิวในโพรงมดลูกไม่เรียบ ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกผิดปกติ ประจำเดือนมากระปริดประปรอย ปวดท้องประจำเดือน และเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

อาการสัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก

โดยอาการที่อาจบ่งบอกได้ถึงเนื้องอกในมดลูก มีดังนี้

  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีอาการซีดโดยไม่รู้ตัว
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • ท้องผูก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก หรือกดบริเวณทวารหนัก
  • มีอาการท้องอืด รู้สึกท้องโตขึ้นเรื่อยๆ
  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • คลำพบก้อน แม้อาจไม่มีอาการ แต่อาจคลำพบก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่
  • มีบุตรยากและแท้งบุตร เนื่องจากก้อนเนื้องอกยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก เกิดการอุดตันของท่อนำไข่หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน

เมื่อมีอาการอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้

ใครบ้างที่เสี่ยงเนื้องอกมดลูก

ซึ่งผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นเนื้องอกมดลูก ได้แก่

  • ผู้หญิงที่มีอายุ 25 – 50 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พบภาวะนี้บ่อยที่สุด ในขณะที่ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเนื้องอกจะมีขนาดเล็กลงเอง
  • คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นเนื้องอกมดลูกมาก่อน มีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าผู้ที่ไม่มีคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นเนื้องอกในมดลูก ซึ่งความเสี่ยงทางพันธุกรรมนี้จะเกี่ยวข้องกับระดับและการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • มีประวัติรับประทานยาและสารที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งกระตุ้นให้เนื้องอกมดลูกโตขึ้นได้

การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกในรังไข่

เนื้องอกมดลูกมักถูกตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภายใน โดยแพทย์จะรู้สึกถึงก้อนเนื้อที่มีลักษณะผิดปกติภายในมดลูก และแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น

  • การตรวจอัลตราซาวด์ แพทย์จะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ทั้งแบบอัลตราซาวด์บนหน้าท้อง และอัลตราซาวด์ผ่านช่องคลอด เพื่อให้มองเห็นเนื้องอกมดลูกได้ชัดเจนจนสามารถวัดขนาดและระบุบริเวณที่เกิดเนื้องอกได้
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีประจำเดือนมากผิดปกติ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีการตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อที่จะทำให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดอย่างเรื้อรังหรือไม่ เป็นต้น

แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูก

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการรักษาเนื้องอกมดลูกนั้นมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทั่วไปมีดังนี้

1. การรักษาโดยการติดตามอาการ

ในกรณีที่เนื้องอกที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน และเนื้องอกไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นอันตราย สามารถติดตามอาการโดยการอัลตร้าซาวด์ ซึ่งแพทย์จะนัดเข้ามาตรวจเช็คเป็นระยะ ทุกๆ 3-6 เดือน

2. การรักษาเนื้องอกมดลูกด้วยการใช้ยา

  • การใช้ยาคุมกำเนิด เพื่อลดปริมาณประจำเดือน ลดการปวดประจำเดือน แต่จะไม่ลดขนาดของก้อนเนื้องอก รูปแบบยาคุมกำเนิด อาจเป็นยาเม็ดชนิดฮอร์โมนต่ำ ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝัง หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมน
  • การฉีดยาลดขนาดก้อนเนื้องอก ยาฉีดเพื่อลดขนาดและเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้องอก ออกส่งผลต่อฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ที่จะมาควบคุมฮอร์โมนจากรังไข่อีกที แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือน เพราะจะทำให้มวลกระดูกบางลงได้ ดังนั้นจึงมักใช้ยานี้เพื่อลดขนาดเนื้องอกก่อนที่จะผ่าตัด เพื่อลดการเสียเลือดตอนผ่าตัดเพียงเท่านั้น

3. การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก

  • การผ่าตัดส่องกล้องทางโพรงมดลูก (Hysteroscopy)

Hystereoscopy คือ นวัตกรรมการผ่าตัดแบบส่องกล้อง สามารถใช้ในการผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูก หรือในกรณีที่เนื้องอกมีการเบียดโพรงมดลูก ซึ่งวิธีการผ่าตัดนี้ จะไม่มีแผลผ่าตัด จะเป็นการสอดกล้องผ่านช่องคลอดไปยังปากมดลูกและเข้าสู่โพรงมดลูก โดยใช้ลวดไฟฟ้าในการตัดเนื้องอก ทำให้สามารถฟื้นตัวได้เร็ว

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : เจาะลึก Hysteroscopy คืออะไร? นวัตกรรมส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก

  • การผ่าตัดส่องกล้องทางช่องท้อง (Laparoscopy)

การส่องกล้องทางหน้าท้องสามารถผ่าตัดรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกได้เทียบเคียงกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดยจะมีแผลผ่าตัด ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร 3-4 แผล ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผ่าตัด ส่วนสำคัญคือการนำเนื้องอกออกจากช่องท้องหลังจากผ่าตัดแล้ว โดยเฉพาะก้อนที่มีขนาดใหญ่

ปัจจุบันการใช้เครื่องปั่นชิ้นเนื้อต้องทำในถุงชนิดพิเศษเท่านั้น เพื่อป้องกันการกระจายของเนื้องอกที่จะไปฝังตัวในช่องท้องตรงบริเวณอื่น การผ่าตัดส่องกล้องจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้เวลาฟื้นตัวน้อยกว่า เจ็บแผลน้อย ทำให้กลับสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว

ภาวะแทรกซ้อนจากเนื้องอกมดลูก

โดยปกติแล้วเนื้องอกมดลูกอาจสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

เนื้องอกมดลูกกับภาวะมีบุตรยาก

สำหรับเนื้องอกในโพรงมดลูกเกิดจากการที่เนื้องอกมดลูกปูดเข้าไปในโพรงมดลูก ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา ส่งผลให้มีบุตรยาก มีโอกาสแท้งได้ง่าย

ที่สำคัญผู้หญิงทุกคนทุกวัยสามารถเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเป็นเนื้องอกโพรงมดลูก คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถกระตุ้นเนื้องอกโพรงมดลูกได้

เนื้องอกมดลูกกับโรคมะเร็ง

มีโอกาสแต่น้อยมาก เพราะเนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย หรือแม้กระทั่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากเนื้องอกมดลูกก็พบไม่บ่อยนัก ถ้าพบคือในกรณีที่เนื้องอกมดลูกเบียดอวัยวะข้างเคียง อย่างเช่น ท่อไต อาจทำให้เกิดโรคไตได้

วิธีป้องกันความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก

อาการเนื้องอกในมดลูก

วิธีป้องกันความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก มีดังนี้

  • ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งสามารถตรวจได้แม้จะยังไม่มีอาการ
  • ปรับพฤติกรรม งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
  • งดรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพราะการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากจะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนัก โรคนี้มักพบกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน จึงควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ หมั่นออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย

ข้อสรุป

เนื้องอกมดลูก คือ ก้อนเนื้อที่มักจะถูกพบในบริเวณโพรงมดลูก ซึ่งหากเนื้องอกมีขนาดที่โตขึ้นอาจส่งผลให้ไปกดทับอวัยวะส่วนอื่นๆได้ สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูก ได้แก่ กรรมพันธุ์ ฮอร์โมนที่ผิดปกติ การใช้ยาบางตัว เป็นต้น โรคนี้มักถูกพบในผู้หญิงที่มีช่วงอายุประมาณ 25-50 ปี และหากผู้หญิงท่านไหนเข้าสู้ช่วงวัยทอง เนื้องอกมดลูกก็จะสามารถฝ่อไปได้เอง

ซึ่งแนวทางในการรักษามีดังนี้ การรักษาโดยการติดตามอาการ การรักษาด้วยการให้ยา และการผ่าตัด ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันคุณผู้หญิงตรวจตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีหากตรวจเจอความผิดปกติแพทย์จะได้แนะนำและรักษาได้ทัน  ทั้งนี้หากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf