โดยปกติผู้หญิงหลายๆ คนอาจมีประจำเดือนที่มาไม่ตรงหรือมาไม่สม่ำเสมอ แต่คุณอาจไม่รู้ว่านั่นคือสัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะเป็น โรคภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณเป็นผู้มีบุตรยากโดยไม่รู้ตัว คุณอาจจะกำลังกังวลว่าหากเป็นภาวะนี้ควรทำอย่างไร ถ้าอยากมีลูกแล้วเป็นภาวะนี้อยู่ควรปฏิบัติตัวแบบไหน แล้ววิธีรักษามีอะไรบ้าง
- รู้จัก ‘ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ’ (PCOS)
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เกิดจากสาเหตุใด
- รู้ทันอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
- เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
- การตรวจวินิจฉัยของแพทย์
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจาก PCOS
- ภาวะถุงน้ำในรังไข่กับการตั้งครรภ์
- แนวทางการรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่
- วิธีดูแลตัวเองป้องกันภาวะภาวะถุงน้ำรังไข่
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ PCOS
- ข้อสรุป
รู้จัก ‘ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ’ (PCOS)
โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อหรือ ฮอร์โมนในร่างกายมีระดับเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินที่ไม่สมดุล เป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงวัยเจริญ โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ จะส่งผลให้รอบประจำเดือนมาน้อย รังไข่ขนาดโตร่วมกับมีถุงน้ำหลายใบ ขนดก และมีสิวมากกว่าปกติ
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย อาทิ เช่น ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต หรือปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบที่มาจากปัจจัยความผิดปกติของฮอร์โมน : จากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินที่มากเกินไป รวมไปถึงการมีฮอร์โมนของเพศชาย (เทสโทสเทอโรน) สูงกว่าปกติสามารถสังเกตได้จากที่มีใบหน้ามันมีสิวขึ้นเยอะ ศีรษะล้านคล้ายเพศชาย หรือมีขนขึ้นเยอะตามจุดต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ร่องอก ท้องส่วนล่าง แขน และขา เป็นต้น ในผู้หญิงบางรายจะมีปริมาณฮอร์โมนโพรแลกสูง ฮอร์โมนชนิดนี้จะกระตุ้นการหลั่งน้ำนมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ล้วนกระตุ้นการเกิดถุงน้ำในรังไข่หลายใบได้
- โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบที่มาจากปัจจัยด้านอื่น ๆ : อาจเป็นผลกระทบที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เชื้อชาติ รวมไปถึงพันธุกรรมกรณีที่มีเครือญาติเคยเป็นถุงน้ำในรังไข่หลายใบด้วยเช่นกัน
รู้ทันอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทั้งมาน้อยมามากไม่สม่ำเสมอ ไม่มาติดต่อกันหลายเดือน เว้นช่วงห่างรอบเดือนนานกว่า 35 วัน และมีรอบประจำเดือนน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปี
- น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นจนเกินมาตรฐาน อาการอ้วนจะเป็นลักษณะของการลงพุงส่งผลต่ออินซูลินสาเหตุของถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
- มีลักษณะทางร่างกายเปลี่ยนไป เกิดจากฮอร์โมนเพศชายในตัว เช่น ขนขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เสียงเปลี่ยนไปจากเดิม ผมร่วงทำให้ผมบาง หรือมีสิวขึ้น เป็นต้น
- ภาวะมีบุตรยาก เป็นผลกระทบจากฮอร์โมนที่ผิดปกติในร่างกาย
- อาการอื่น ๆ มีรอยดำตามข้อพับสัญญาณของความเสี่ยงโรคเบาหวาน เช่น ใต้ราวหน้าอก บริเวณต้นคอ และซอกรักแร้ เป็นต้น
อาการขั้นรุนแรงของ PCOS หากมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) แล้วไม่รีบรักษาอาจส่งผลให้
- มีบุตรยาก เนื่องจากภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง ทำให้ไม่มีเซลล์สืบพันธุ์ที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ และหากตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งบุตรในช่วง 3 เดือนแรกเพราะฮอร์โมนไม่สมบูรณ์ หรืออาจะเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าขณะอยู่ในครรภ์
- เพิ่มความเสี่ยงการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
โดยปกติแล้วผู้หญิงควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจภายในเป็นประจำในทุกปี เพราะหากมีสิ่งผิดปกติหรือโรคที่เกิดขึ้นจะได้รักษาได้ทันเมื่อเป็นระยะแรก แต่ในประเทศไทยการตรวจประจำปียังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ แต่หากรู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ปวดท้อง ประจำเดือนไม่ปกติ หรือน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วควรรีบพบแพทย์
การตรวจวินิจฉัยของแพทย์
- สอบถามประวัติ แพทย์จะสอบถามถึงอาการทั่วไป เช่น ระยะเวลาการมีประจำเดือน รอบประจำเดือน น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง
- การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก และความดันโลหิต
- การตรวจภายใน แพทย์จะตรวจสอบอวัยวะของระบบสืบพันธุ์อย่างละเอียด เพื่อหาสัญญาณความผิดปกติ
- การตรวจเลือด จะตรวจเพื่อวัดระดับฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ เนื่องจากระดับฮอร์โมนแต่ละชนิดจะบ่งชี้ถึงโรคได้ รวมถึงภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
- อัลตราซาวด์ จะเป็นเครื่องที่ตรวจผ่านช่องคลอด เพื่อช่วยให้แพทย์ทราบถึงลักษณะของรังไข่ และความหนาของผนังมดลูก เช่น ตรวจดูว่ารังไข่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจาก PCOS
- ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
- เสี่ยงความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เสี่ยงโรคอ้วนและโรคตับอักเสบจากถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
- เพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (จากการที่ภาวะร่างกายดื้ออินซูลิน)
- ส่งผลต่อโพรงมดลูก เช่น อาการเลือดออก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ภาวะถุงน้ำในรังไข่กับการตั้งครรภ์
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่แล้วเป็นภาวะถุงน้ำในรังหลายใบ ในร่างกายจะมีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าฮอร์โมนตัวอื่น ส่งผลให้มีโอกาสแท้งบุตรได้ง่ายขึ้น หรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น รวมถึงอาจเป็นต้นเหตุของอาการเรื้อรังอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นสำหรับผู้ที่อยากมีลูก ควรรักษาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบให้หายก่อน แล้วค่อยเริ่มการมีบุตร
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มีภาวะ PCOS และต้องการที่จะตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการแพทย์ในปัจจุบันจะนิยมใช้วิธีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น เด็กหลอดแก้ว และ ICSI ซึ่งถือเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและผลสำเร็จสูงที่สุด รวมถึงใช้วิธีการปรับฮอร์โมนให้สมดุลเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ
แนวทางการรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่
การรักษภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ สามารถรักษาได้หลายวิธีแต่ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป มีดังนี้
- การรักษาด้วยยา ต้องขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นอยู่ด้วย เช่น การรักษาอาการตกไข่ผิดปกติ ด้วยการรับยาโคลมีฟีนที่ช่วยให้ไข่กลับมาตกปกติ
- การรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อกำจัดส่วนที่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน มีส่วนช่วยให้การตกไข่กลับมาเป็นปกติด้วยการผ่าตัดจี้รังไข่ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะส่งผลแค่ในระยะสั้น
- การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ห่วงอนามัยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันความผิดปกติของเยื่อบุโพรงจมูก
วิธีดูแลตัวเองป้องกันภาวะภาวะถุงน้ำรังไข่
- ลดความอ้วน ควบคุมอาหาร การควบคุมน้ำหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะเมื่อผอมลงการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายจะกลับมาใกล้เคียงปกติ ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอมากขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควรหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
- รับประทานยาฮอร์โมนตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่อง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ PCOS
1. ภาวะถุงน้ำในรังไข่ (PCOS) มีลูกได้ไหม
ถ้าเป็นภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ยังสามารถมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติได้อยู่ เพราะอาจมีบางเดือนที่มีการตกไข่อยู่ แต่กรณีที่เป็นในขั้นรุนแรง เช่น ประจำเดือนขาดหายไปเป็นเวลานาน อาจจะมีโอกาสท้องธรรมชาติยาก
2. โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) รักษาหายไหม
ไม่มีทางหายขาด เพราะว่าเป็นภาวะที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ดังนั้นการรักษาจึงมุ่งประเด็นตามอาการที่แสดงออก ควบคุมฮอร์โมนให้กลับมาสมดุล เพื่อกดฮอร์โมนเพศชายให้แสดงออกลดลง โดยการใช้ยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด
3. โรคถุงน้ำในรังไข่ สามารถหายเองได้ไหม
ไม่สามารถหายเองได้ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องตามกระบวณการ โดยโรคนี้จะไม่สามารถหายขาดได้
ข้อสรุป
ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS ยังเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย หลายคนไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปตรวจภายในและพบแพทย์เป็นประจำทุกปี แม้ว่าโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS จะเป็น 1 ในสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
เนื่องจากเป็นภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง แต่ก็ยังสามารถมีลูกได้ถ้าทราบวิธีในการปฏิบัติตัวและการรักษา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่เป็นที่นิยมและผลสำเร็จสูงที่สุด จะนิยมรักษาด้วยวิธีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น เด็กหลอดแก้ว และ ICSI โดยใช้วิธีการปรับฮอร์โมนให้สมดุลเพื่อให้รอบเดือนมาปกติ
หากท่านไหนมีความกังวลใจหรือเป็นภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf