การอุ้มบุญในประเทศไทย
การมีบุตรเป็นความฝันของหลายครอบครัว แต่บางคู่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ ทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น คือ การอุ้มบุญและการบริจาคไข่หรือสเปิร์ม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ช่วยให้คู่สมรสสามารถมีบุตรที่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมได้ ในประเทศไทย การอุ้มบุญและการบริจาคเซลล์สืบพันธุ์มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาทางจริยธรรมและกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น
การอุ้มบุญคืออะไร?
การอุ้มบุญ คือกระบวนการที่ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์แทนบุคคลหรือคู่รักที่ต้องการมีบุตร โดยตัวอ่อนที่สร้างจากไข่และอสุจิของพ่อแม่ที่ตั้งใจจะมีบุตร จะถูกย้ายไปยังมดลูกของผู้รับอุ้มบุญ เพื่อให้เธอเป็นผู้ตั้งครรภ์และคลอดบุตรจนจบกระบวนการ
การบริจาคไข่และสเปิร์มในประเทศไทย
การบริจาคไข่ (Egg Donation)
การบริจาคไข่เป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวณการรักษามีบุตรยาก และมีปัญหาด้านคุณภาพไข่หรือไม่มีไข่เอง เช่น ผู้ที่รักษามีบุตรยาก หลายรอบและแพทย์มีความเห็นว่าไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยไข่ตนเอง หรือผู้ที่รังไข่เสื่อม
กระบวนการบริจาคไข่
คัดกรองสุขภาพของผู้บริจาค
กระตุ้นไข่ด้วยฮอร์โมน
เก็บไข่ผ่านกระบวนการเจาะเก็บจากรังไข่
นำไข่ที่ได้ไปใช้ในการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ
คุณสมบัติของผู้บริจาคไข่
อายุระหว่าง 20-35 ปี
สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อทางพันธุกรรม
ไม่เคยมีภาวะมีบุตรยาก
การบริจาคสเปิร์ม (Sperm Donation)
การบริจาคสเปิร์มเป็นวิธีช่วยผู้ที่มีปัญหาด้านอสุจิ เช่น อสุจิน้อย อสุจิไม่มีคุณภาพเพียงพอ หรือไม่มีอสุจิเป็นหมันแต่กำเนิด
กระบวนการบริจาคสเปิร์ม
คัดกรองสุขภาพของผู้บริจาค
ตรวจความสมบูรณ์ของอสุจิ
เก็บสเปิร์มผ่านการหลั่งและนำไปแช่แข็ง
ใช้สำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือการฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI)
คุณสมบัติของผู้บริจาคสเปิร์ม
อายุระหว่าง 20-45 ปี
สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อทางพันธุกรรม
มีคุณภาพอสุจิอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ข้อจำกัดทางกฎหมาย
ไม่อนุญาตให้บริจาคไข่หรือสเปิร์มเพื่อการค้าหรือเพื่อขาย
ไม่สามารถนำไข่หรือสเปิร์มที่บริจาคไปใช้นอกราชอาณาจักรไทย
อนาคตของการอุ้มบุญและการบริจาคไข่/สเปิร์มในไทย
แม้ว่ากฎหมายไทยยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการอุ้มบุญและการบริจาคไข่/สเปิร์ม แต่มีแนวโน้มว่ากฎหมายอาจได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ องค์กรด้านภาวะมีบุตรยากกำลังผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับทางเลือกที่มากขึ้นสำหรับครอบครัวที่ต้องการมีบุตรผ่านกระบวนการเหล่านี้ เช่น กลุ่ม LGBTQ+ ในอนาคต