ฮอร์โมนคนท้อง ถือว่าเป็นฮอร์โมนที่สำคัญกับคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างมาก และฮอร์โมนบางตัวเป็นตัวชี้ว่าคุณตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้คุณแม่หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าถ้าฮอร์โมนคนท้องจะตรวจเจอตอนไหน มีวิธีการตรวจอย่างไร แล้วค่าฮอร์โมนแต่ละชนิดเพิ่มขึ้นหรือลดลงช่วงไหน แล้วถ้าฮอร์โมนไม่สมดุลจะมีผลอะไรกับทารกไหมมีวิธีแก้อย่างไร
ฮอร์โมนคนท้อง (Pregnancy Hormones)
ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่มีผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง โดยฮอร์โมนที่ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และช่วยปรับเปลี่ยนสรีระร่างกายของคุณแม่ให้เหมาะสมต่อการอุ้มท้อง แต่ยังมีฮอร์โมนตัวสำคัญอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งจะมีฮอร์โมนตัวไหนบ้าง สามารถหาคำตอบได้ในหัวข้อถัดไป
6 ฮอร์โมนสำคัญสำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง
1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง มีหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง แต่เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายของผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้น้อยลง และในวัยที่หมดประจำเดือน ระดับเอสโตรเจนจะไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ได้
หน้าที่ของฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนหลักของผู้หญิง ซึ่งรับผิดชอบในการควบคุมการมีประจำเดือนและการหมดประจำเดือน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนรับผิดชอบต่อความหนาของผิว การไหลของเลือด คอลลาเจน และน้ำในผิว
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถส่งผลกระทบต่อการที่ไขมันถูกจัดเก็บในร่างกาย ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นสามารถนำไปสู่การจัดเก็บไขมันมากขึ้นในทั้งผู้ชายและผู้หญิง
2. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมอาการไข่ตกและการมีประจำเดือน อีกทั้งยังช่วยควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย และสร้างฮอร์โมนหลายชนิดรวมถึงควบคุมการหลั่งฮอร์โมนด้วย จึงมีความสำคัญต่อการเกิดรอบเดือนและการตั้งครรภ์โดยตรง
หน้าที่ของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
- กระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเยื่อบุมดลูกเพิ่มขึ้น เพื่อให้เยื่อโพรงมดลูกหนาและคงตัวพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน
- ขณะตั้งครรภ์โปรเจสเตอโรนจะยับยั้งมดลูกไม่ให้บีบตัว แต่เมื่อใกล้คลอดโปรเจสเตอโรนจะลดปริมาณลง มดลูกจึงบีบตัวเพื่อช่วยในการคลอดลูก
- ขณะตั้งครรภ์โปรเจสเตอโรนจะช่วยปรับการทำงานของร่างกายเพื่อให้เหมาะกับทารกที่จะเติบโตอยู่ในครรภ์ เช่น กระตุ้นให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หายใจเร็วขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ช่วยให้ข้อต่อและเอ็นยืดขยายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสรีระเมื่อทารกเติบโตในครรภ์
3. ฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin)
ฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) คือ ฮอร์โมนตั้งครรภ์ เป็นฮอร์โมนที่ผลิตมาจากเซลล์ของรก ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่ผู้หญิงตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมน hCG มาจากเซลล์รกของทารกเท่านั้น
หน้าที่ของฮอร์โมน hCG
ฮอร์โมน hCG จะช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก ช่วยกระตุ้นให้รังไข่ให้สร้างฮอร์โมนตัวอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญคุณแม่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมน hCG จะค่อยๆเพิ่มจำนวนมากขึ้น และยังสามารถใช้ในการตรวจการตั้งครรภ์ได้อีกด้วยเพราะฮอร์โมน hCG จะมีอยู่ในเลือดกับปัสสาวะ
การตรวจค่า hCG
- การทดสอบ hCG วัดเชิงคุณภาพ เป็นการตรวจหาว่าตั้งครรภ์หรือไม่ อาจสามารถตรวจได้ภายใน 11 วันหลังจากมีการปฏิสนธิ
- การทดสอบ hCG วัดเชิงปริมาณ โดยจะวัดปริมาณ hCG ในเลือด เพื่อดูระดับของฮอร์โมนว่าสูงหรือต่ำกว่าปกติหรือไม่ และยังอาจช่วยให้คุณหมอทราบและวินิจฉัยได้ว่ามีปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ได้
4. ฮอร์โมน hPL (Human Placental Lactogen)
ฮอร์โมน hPL (Human Placental Lactogen) เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นภายในรก ซึ่งถือเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก โดยมีหน้าที่ส่งสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์และกระตุ้นต่อมน้ำนมภายในเต้านมของคุณแม่ให้พร้อมสำหรับการให้นมลูก
5. ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin)
ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่กระตุ้นต่อมเต้านมของคุณแม่เพื่อสร้างน้ำนมและหลั่งน้ำนม รวมทั้งยังช่วยควบคุมให้มีการตกไข่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ประจำเดือนมาปกติ
6. ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin)
ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นจากไฮโปทาลามัสหรือต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย โดยฮอร์โมนตัวนี้จะสัมพันธ์กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะมักจะหลั่งออกมาตอนที่ผู้หญิงคลอดลูก ทำให้มีแรงเบ่ง หลังจากคลอดลูกแล้วฮอร์โมนตัวนี้ยังมีผลต่อการให้นมบุตร เพราะสามารถช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมให้เพียงพอต่อลูกน้อย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์
1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย
เมื่อตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ตลอดการตั้งครรภ์ น้ำหนักจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ล่ะเดือนจะเพิ่มประมาณ 2 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักควรเพิ่มอย่างน้อยประมาณ 10-12 กิโลกรัม
- การเปลี่ยนแปลงของเต้านมและหัวนม มีความไวต่อสัมผัสมากขึ้น เส้นเลือดที่เต้านมจะขยาย หัวนมจะขยายใหญ่และมีสีคล้ำ เต้านมขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากในกระบวนการตั้งครรภ์นั้น หน้าอกก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมและผลิตนม
- อาการปวดตามร่างกาย ในช่วงเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะยังคล่องตัวมีบ้างในบางคนที่รู้สึกไม่สบายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปวด เช่น ปวดหลัง เมื่อตั้งครรภ์หลายเดือนมากขึ้น จะมีอาการปวดหลัง เนื่องจากน้ำหนักของทารกและมดลูกถ่วงที่ด้านหน้า ทำให้ความสมดุลของร่างกายเปลี่ยน จึงทำให้เกิดอาการปวดร้าวและปวดเกร็ง
- ตะคริวที่ขา น่อง และมือ มักจะเริ่มเป็นเมื่ออายุครรภ์เลย 3 เดือนขึ้นไป เกิดจากความล้าของกล้ามเนื้อ หรือร่างกายอาจขาดแคลเซียม ควรดื่มนมวัว และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือแคลเซียมเสริมในรูปแบบเม็ด
- อาการบวมของมือ เท้า ข้อเท้า เกิดจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ทำให้มีน้ำในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น มักเป็นส่วนที่ห้อยลงต่ำทำให้น้ำไหลลงมากองบริเวณนั้น เช่น ที่ปลายมือ หน้าแข้งและเท้า ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นเท่าไรอาการบวมจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- ปัสสาวะบ่อย เกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะรับปริมาตรปัสสาวะได้น้อยลง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนโลหิตที่มากขึ้นบริเวณอุ้งเชิงกรานทำให้ รู้สึกปวดปัสสาวะง่ายขึ้นกว่าปกติ
2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์
ระหว่างตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนส่งผลกับคุณแม่ ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน บางครั้งคุณแม่อาจรู้สึกซึมเศร้า กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย กังวลเรื่องลูกในครรภ์ การคลอด การเลี้ยงลูก
โดยเฉพาะช่วง 1-3 เดือนแรก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและร่างกายจะมีผลต่ออารมณ์อย่างชัดเจน เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย น้อยใจ เกิดความสับสบภายในจิตใจ
ส่วน ในช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีระดับสูง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวไม่ดี หูรูดกระเพาะอาหารหย่อน เกิดกรดไหลย้อน มดลูกที่โตดันกระเพาะอาหารทำให้จุกแน่น นอนท่าไหนก็ไม่สบาย ทารกดิ้นแรงจนสะดุ้งตื่น นอนไม่หลับ
3. อาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน มักพบในช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาการหลักๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียนง่าย เวียนหัว มีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย
โดยทั่วไปอาการแพ้ท้องถือเป็นเรื่องปกติ หากเป็นมากจนรับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ น้ำหนักลดลงมากกว่าปกติ อาเจียนเป็นเลือด อ่อนเพลียมาก นอนไม่หลับ ไม่มีแรง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
ค่าฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
เป็นฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งทำหน้าที่พัฒนาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่ แต่เมื่อตั้งครรภ์ฮอร์โมนนี้จะถูกผลิตออกมาจากรกอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่ให้เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ และช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง
ผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์ ค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนจะอยู่ที่ 2-30 pg/ml
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่และรกในระหว่างตั้งครรภ์ มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อให้ไข่ที่ถูกผสมจนเกิดการปฏิสนธิฝังตัวและเติบโตเป็นทารกได้
- ฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin)
ฮอร์โมนตั้งครรภ์ เป็นฮอร์โมนที่ผลิตมาจากเซลล์ของรก ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่ผู้หญิงตั้งครรภ์เท่านั้น เพราะส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมน hCG มาจากเซลล์รกของทารกเท่านั้น
ระดับฮอร์โมน hCG จะเริ่มตรวจพบหลังจากมีการปฏิสนธิของอสุจิกับเซลล์ไข่ประมาณ 11 วัน ระดับฮอร์โมนจะมีค่าเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 3 วัน ระดับฮอร์โมนจะขึ้นสูงสุดที่ 8-11 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นค่าจะลดลงและคงที่ตลอดการตั้งครรภ์
- ฮอร์โมน HPL (Human Placental Lactogen)
ฮอร์โมน HPL เป็นฮอร์โมนที่สัมพีธ์กับสภาวะการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ประมาณ 1-14% ฮอร์โมนชนิดนี้จะเริ่มสร้างตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ โดยมีหน้าที่ช่วยสลายไขมัน เพื่อให้เลือดของคุณแม่และทารกมีกรดไขมันสูงขึ้น ยับยั้งการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์แม่ ยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคสจากอาหารอื่น และช่วยกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เพื่อเตรียมผลิตนมมากยิ่งขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลระหว่างตั้งครรภ์
ทางการแพทย์ที่มีผลต่อต่อมไทรอยด์และต่อมหมวกไตยังสามารถส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน ต่อมไทรอยด์มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์อย่างมาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของความไม่สมดุลของฮอร์โมนในผู้หญิง อีกอย่างคือ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่เยอะ ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติและอยู่ในภาวะมีบุตรยาก
สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลระหว่างตั้งครรภ์ คือ
- น้ำหนักตัวของคุณแม่
- โรคเบาหวาน
- การตั้งครรภ์แฝด
- uE3 (Unconjugated estriol) คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีค่า uE3 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นปกติ แต่หากค่า uE3 มีระดับที่ต่ำกว่าปกติ จะเสี่ยงอยู่ในกลุ่มของคุณแม่ตั้งครรภ์ทารกกลุ่มดาวน์ซินโดรม
ฮอร์โมนคนท้องไม่สมดุลจะส่งผลอย่างไร
เมื่อระดับฮอร์โมนไม่สมดุลอาจก่อให้เกิดภาวะหรืออาการผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกายได้ เช่น
- ค่าฮอร์โมน hCG ต่ำ หากค่า hCG ต่ำกว่ามาตรฐานควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเกิดการแท้ง ไข่ฝ่อ หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
- ค่าฮอร์โมน hCG สูง หากตรวจแล้วพบว่าค่าฮอร์โมน hCG สูงเกินกว่ามาตรฐานควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเกิดการตั้งครรภ์แฝด และตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกได้
- ค่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ ถือว่าอันตรายมากอาจถึงขั้นการตั้งครรภ์ล้มเหลวหรือเรียกว่าแท้งบุตรนั่นเอง แต่โดยส่วนใหญ่ถ้าคุณหมอตรวจและพบว่าค่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ คุณหมอจะให้รับประทานฮอร์โมน หรืออาจจะเป็นการเหน็บหรือการฉีด เพื่อให้ประครองไม่ให้เกิดการแท้งบุตรได้
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ถือว่าเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญกับผู้หญิงมาก แต่ถ้ามีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไปก็อาจจะส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันได้ง่ายและมากขึ้นทำให้เกิดเป็นโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ยังทำให้มีอารมณ์แปรปรวน และยังเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงโรคไขมันในหลอดเลือด เมื่อไขมันเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ก็อาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตอีกด้วย
วิธีบำรุงเสริมให้ฮอร์โมนสมดุล
การที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศหญิงต่ำกว่าปกติ จะส่งผลต่อเรื่องอารมณ์ ผิวพรรณและสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ผมร่วงและประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมถึงอารมณ์ที่หงุดหงิดง่ายอีกด้วย ซึ่งสามารถเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงง่ายๆได้ด้วยการทานอาหารและผลไม้ ดังนี้
- น้ำมะพร้าว ในน้ำมะพร้าวจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ซึ่งก็มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างคอลลาเจนและอิลาสตินให้กับผิวได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ผิวมีความกระชับ เต่งตึงและชะลอการเกิดริ้วรอยได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ก็มีส่วนช่วยในการขับสารพิษออกจากร่างกาย ด้วยกระบวนการที่คล้ายกับการดีท็อกซ์
- งา ธัญพืชมากประโยชน์ ซึ่งก็มีโฟโตเอสโตรเจนสูง อีกทั้งยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ธาตุเหล็กและแมกนีเซียม ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายของผู้หญิงอีกด้วย ที่สำคัญคือการทานงาเป็นประจำ ก็สามารถช่วยลดน้ำหนักให้หุ่นเพรียวสวยได้ด้วย
- เต้าหู้ เต้าหู้มีไอโซฟลาโวน ซึ่งก็เป็นเอสโตรเจนอีกชนิดหนึ่ง ที่จะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายให้สมดุลยิ่งขึ้น ทั้งยังมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพและผิวพรรณได้เป็นอย่างดี แถมยังมีโปรตีนสูงเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อีกด้วย
- องุ่น ในองุ่นมีสารเรสเวอราทรอลและวิตามินซีสูงมาก โดยสารตัวนี้จะทำหน้าที่คล้ายๆ กับฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงสามารถสร้างสมดุลของฮอร์โมนได้ดี และบำรุงผิวพรรณให้ดูเปล่งปลั่ง กระชับยิ่งขึ้น
- ลูกพรุน นอกจากมีไฟโตเอสโตรเจนสูงแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยไฟเบอร์ ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายได้ดี และสามารถปรับสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย
ข้อสรุป
ฮอร์โมนคนท้อง คือ ฮอร์โมนที่สำคัญสำหรับคุณแม่เพราะจะเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูตัวอ่อนและช่วยให้ตัวอ่อนฝังที่ผนังมดลูกลูกได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ยังอาจส่งผลให้คุณแม่มีลักษณะรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอาการต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็น อาการอ่อนเพลีย ปวดหลัง อาการแพ้ท้อง และอารมณ์ที่แปรปรวน
หากคุณแม่ท่านไหนมีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลหรือมีความเปลี่ยนทางด้านร่างกาย อามรมณ์ อาการแพ้ท้องมากเกินไป ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดอันตรายตามมาได้ ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงท่านใดมีข้อสงสัย รวมถึงอยากปรึกษาปัญหาผู้มีบุตรยาก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf