วัยทอง

วัยทอง (Menopause) ถือเป็นคำพูดติดปากของคนทั่วไป มักใช้เวลาเปรียบกับเพื่อนหรือคนใกล้ที่มีอารมณ์หงุดหงิด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งหลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบความหมายของคำว่าวัยทองว่าจริงๆ แล้ววัยทองคืออะไร วันนี้มาทำความรู้จักกับช่วยวัยทองกัน ว่าสาเหตุของวัยทองเกิดจากอะไร ช่วงอายุไหนที่เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงวัยทอง มีอาการและสัญญาณเตือนก่อนเข้าสู่วัยทองอย่างไรบ้าง และควรรับมืออย่างไร

วัยทอง (Menopause)

วัยทอง (Menopause) คือ ภาวะที่ผู้หญิงเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน ซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยทองรังไข่จะหยุดทำงาน หยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ไม่มีการตกไข่ และส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน ผู้ที่จะเข้าสู่วัยทองมีอายุประมาณ 45-55 ปีนั่นเอง

วัยทองแบ่งเป็นกี่ระยะ

โดยทั่วไปแล้ววัยทองจะแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause)

ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) เป็นระยะเริ่มแรกของการหมดประจำเดือน ทำให้ผู้หญิงประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี

2. ระยะหมดประจำเดือน (Menopause)

ระยะหมดประจำเดือน (Menopause) จะเป็นระยะที่นับตั้งแต่ประจำเดือนไม่มาต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งระยะก็ยังคงส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวน มีอาการร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เนื่องจากร่างกายหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนั่นเอง

3. ระยะหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause)

ระยะหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause) เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

อาการสัญญาณเตือน ‘วัยทอง’

อาการวัยทองในผู้หญิง

สำหรับสัญญาณเตือนการเข้าสู่วัยทอง มีลักษณะอาการดังนี้

อาการในระยะสั้น

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาติดกันหรือห่างจากกันมาก บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ
  • อาการร้อนวูบวาบ จากการแปรปรวนของระดับฮอร์โมน ทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิผิดปกติ โดยจะมีอาการมากในช่วง 2-3 ปี แรก หลังหมดประจำเดือน และจะค่อยๆ ลดลงภายใน 1-2 ปี
  • นอนไม่หลับ มาจากสาเหตุของอาการร้อนวูบวาบ
  • ด้านจิตใจ มักพบเกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด มีความวิตกกังวลง่าย
  • ช่องคลอดแห้ง จากระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้มีปัญหาในการร่วมเพศ มีอาการคัน มีการอักเสบของช่องคลอด มดลูก และช่องคลอดหย่อน ความต้องการทางเพศลดลง
  • โอกาสมีลูกน้อยลง จากการตกไข่ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถมีลูกได้อย่างถาวร หลังประจำเดือนหมด 1 ปีเต็ม
  • ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย
  • เต้านมเล็กลง หย่อน ไม่เต่งตึง

อาการในระยะยาว

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด หลังหมดประจำเดือน ร่างกายจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี
  • กระดูกพรุน การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มีการทำลายเนื้อกระดูกมากขึ้นถึงร้อยละ 5 ต่อปี จนทำให้เกิดเป็นโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก เป็นต้น
  • ปัญหาของทางเดินปัสสาวะ ผลจากระดับกระดูกสันหลังที่ลดลงทำให้เยื่อบุผนังท่อปัสสาวะบางลง และกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ทำให้มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ และมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • น้ำหนักขึ้นและเริ่มอ้วน ผลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงทำให้มีผลต่อระบบการเผาผลาญ ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องมากขึ้น

วัยทองเกิดจากสาเหตุใด

วัยหมดประจำเดือน

สาเหตุของวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน เกิดจากร่างกายผู้หญิงที่ไม่มีการตกไข่ เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ไม่ผลิตฮอร์โมนเพศอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนแล้ว ซึ่งภาวะนี้เกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้นจนเข้าสู่วัยชรา สภาพร่างกายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบต่างๆ ภายในก็ทำงานเสื่อมประสิทธิภาพลง

วัยทองก่อนวัยอันควร (Premature Menopause)

วัยทอง คือ

วัยทองก่อนวัยอันควร (Premature Menopause) เกิดจากรังไข่หยุดทำงานหรือรังไข่เสื่อมเร็วกว่าปกติ ซึ่งวัยทองก่อนวัยอันควรอาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 30 ปี บางคนอาจจะเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ หากมีคนในครองครัวหมดประจำเดือนเร็วก็อาจจะมีสิทธิ์หมดเร็วไปด้วย

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง

สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง มีดังนี้

  • งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และของมึนเมาทุกชนิด
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดอาหารจำพวกของมัน ของทอด เพิ่มสารอาหารประเภทเส้นใยจากผักและผลไม้แทน
  • เสริมแคลเซียมให้ร่างกาย ซึ่งแคลเซียมจะมีอยู่มากในอาหารประเภทถั่ว งา ผักใบเขียว และผลิตภัณฑ์จากนมพร่องมันเนย หรือจะรับประทานเป็นยาเม็ดแคลเซียมก็ได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • พักผ่อนอย่างจริงจัง ควรหาเวลาพักผ่อนจากงานประจำที่ทำอยู่ และออกไปทำกิจกรรมต่างๆที่ตนเองชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด
  • ตรวจสุขภาพประจำปี โดยหลักๆ แล้วควรที่จะได้รับการตรวจสุขภาพในเบื้องต้น เช่น การวัดความดันโลหิต การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ในผู้หญิงเราอาจมีการตรวจเต้านมและตรวจภายใน รวมทั้งการตรวจมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย

วิธีดูแลตัวเองในวัยทอง

อาการวัยทอง วิธีรักษา

วิธีดูแลตัวเองในช่วงวัยทอง มีดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพิ่มขึ้น เช่น ผักใบเขียวทุกชนิด งาขาว งาดำ นม กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย และอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ถั่วแดง ฟักทอง กะหล่ำปลี บรอกโคลี แครอท ข้าวกล้อง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนและช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
  • งดหรือลดอาหารประเภทแป้ง ของมัน ของทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน และกระวนกระวายมากขึ้น รวมทั้งงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายแบบโลดโผนหรือที่ต้องใช้แรง โดยเฉพาะข้อเข่าหรือการออกกำลังกายที่ทำให้เข่ารับน้ำหนักมากจนเกินไป เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ควรเข้านอนให้เป็นเวลา และนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพราะจะช่วยเพิ่มความจำ และทำให้มีสุขภาพที่ดีมีอายุยืนยาว
  • ผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม ฝึกทำจิตใจให้สบาย ฝึกจิตให้สงบ นั่งสมาธิเมื่อมีเวลาว่าง พยายามอย่าเครียดเพราะความเครียดจะส่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและผู้คนรอบข้าง

อาการวัยทองรักษาได้หรือไม่

อาการวัยทอง

1. การรักษาอาการวัยทองโดยไม่ใช้ฮอร์โมน

วิธีการรักษาอาการร้อนวูบวาบ

  • สังเกตสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนมาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารร้อน เครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินอี และวิตามินบี คอมเพล็กซ์ รวมถึงอาหารเสริมของสารเหล่านี้
  • งดสูบบุหรี่
  • ผ่อนคลายจิตใจ และหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดมีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น

วิธีการรักช่องคลอดแห้งและปัสสาวะบ่อย

  • ใช้ครีมเอสโตรเจนทาเพื่อกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น
  • ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีในช่องคลอด และทำให้ช่องคลอดยืดหยุ่นมากขึ้น

วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับและอารมณ์แปรปรวน

  • ใช้ยาลดอาการซึมเศร้า เช่น ยาในกลุ่ม SSRI รวมถึงทำกิจกรรมนันทนาการเพื่อผ่อนคายความเครียด และทำให้จิตใจแจ่มใส

วิธีรักษาอาการกระดูกพรุน

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักหรือการทำงานหนัก
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง
  • การใช้ฮอร์โมนเสริม แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น

วิธีรักษาอาการผมร่วง

  • รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อยับยั้งการสร้างไดไฮโดรเทสโทสเตอโรนที่เป็นสาเหตุทำให้รากผมอ่อนแอ
  • สระผมอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัด และป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุการทำลายรากผม และหนังศีรษะ รวมถึงใช้ยาสระผมที่มีสารกระตุ้นการงอกใหม่หรือสารที่ช่วยบำรุงเส้นผม

2. การรักษาอาการวัยทองโดยการใช้ฮอร์โมน

ฮอร์โมนทดแทนที่มีการใช้ในช่วงวัยทอง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ร่างกายขาดไป นอกจากนั้น ยังใช้สารอื่นที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน เช่น

  • การกินยา ทำให้ระดับไขมันที่ดีสูงขึ้น แต่จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดไม่คงที่จากตับถูกทำลาย
  • การฉีด ยาจะไม่ผ่านตับ และระดับไขมันที่ดีจะไม่เพิ่มเหมือนชนิดกิน
  • การใช้แผ่นปิด (estrogen-filled patch)โดยใช้ปิดที่แขนหรือก้น สามารถใช้ได้หลายวัน
  • การฝังฮอร์โมน วิธีนี้จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดสูงเกินมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
  • ครีมฮอร์โมนทาที่ผิวหนัง
  • ครีมฮอร์โมนทาที่ช่องคลอด ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่มีอาการช่องคลอดแห้ง

ประโยชน์ของการใช้ฮอร์โมนทดแทน

  • ป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • ป้องกันโรคหัวใจ
  • ลดอาการวัยทอง
  • ลดอาการร้อนวูบวาบ
  • ลดอาการช่องคลอดแห้ง และคัน ทำให้ช่องคลอดเต่งตึง ไม่แห้ง
  • ลดอาการปัสสาวะเล็ด
  • ใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบ
  • ใช้ลดอารมณ์แปรปรวน และนอนไม่หลับ
  • ใช้ป้องกันโรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม มะเร็งลำไส้ และลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทน

  • ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
  • ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนทดแทน

  • คัดเต้านม
  • ท้องอืด ท้องบวมจากภาวะตับถูกทำลาย
  • มีประจำเดือน

ผลเสียการใช้ฮอร์โมนทดแทน

  • เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี
  • มีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยเฉพาะการใช้แบบรับประทาน หากต้องการป้องกันโรคดังกล่าวควรใช้แบบชนิดปิดหรือชนิดทา

วัยทองสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม

ผู้หญิงเมื่อมีอายุเข้าใกล้วัยทองปริมาณไข่และคุณภาพของไข่จะเสื่อมถอยลง โอกาสในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติของผู้หญิงใกล้วัยทองจะยากมากขึ้น จนเข้าสู่ภาวะมีบุตรยาก หากต้องการตั้งครรภ์อาจต้องใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ (เด็กหลอดแก้ว IVF / ICSI) เนื่องจากช่วงใกล้วัยทอง เป็นช่วงวัยที่ฮอร์โมนเพศจะลดลงอย่างมาก ทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม

ข้อสรุป

วัยทอง (Menopause) คือ ภาวะที่ผู้หญิงเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนอย่างถาวร เพราะเป็นช่วงที่รังไข่หยุดทำงานจึงส่งผลให้ไม่เกิดการตกไข่อีก วัยทองมักจะเริ่มต้นในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี โดยอาการและสัญญาณเตือนก่อนเข้าสู่วัยทอง คือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ซึ่งควรเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยทอง มีวิธีดังนี้ เสริมแคลเซียมให้ร่างกาย ออกกำลังกายอย่าสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพประจำทุกปี ภาวะวัยทองจะอยู่กับเราเพียง 3-5 ปีเท่านั้น หากเราดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม อาการวัยทองที่คอยกวนใจก็จะค่อยๆ หายไปได้ไวมากขึ้น ทั้งนี้ท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf