ประจำเดือนมาเยอะ

ภาวะประจำเดือนมาเยอะ (Menorrhagia) เป็นภาวะที่ผู้หญิงหลายๆท่านกำลังพบเจออยู่แต่อาจมองข้าม เพราะยังไม่ทราบว่าการที่ประจำเดือนมาเยอะกว่าปกติคืออะไร มีอันตรายแค่ไหน วันนี้เราจะพูดถึงภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติคืออะไร สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาเยอะเกิดอะไร มาเยอะแค่ไหนควรพบแพทย์ และภาวะแทรกซ้อนหรือโรคที่ตามคืออะไร มีวิธีรักษาไหม ต้องป้องกันอย่างไร

Table of Contents

ประจำเดือนมาเยอะ (Menorrhagia)

ประจำเดือนมาเยอะ (Menorrhagia) หมายถึง การที่มีเลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ หรือนานกว่าปกติ ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีประจำเดือนไม่เกิน 7 วัน โดยประจำเดือนอาจมามากในช่วง 3 วันแรก และลดน้อยลงในช่วงวันหลังๆ แต่หากประจำเดือนยังคงมาอย่างต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน หรือประจำมามากจนจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ ชั่วโมงตลอดทั้งวัน ก็อาจหมายความว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็นภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ

ประจำเดือนมาเยอะ อาการเป็นอย่างไร

ประจำเดือนมามาก

อาการทั่วไปของประจำเดือนมามาก มีดังนี้

  • มีประจำเดือนติดต่อกันนานเกิน 7 วัน
  • ประจำเดือนมาเยอะจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ ชั่วโมง นานตลอดทั้งวัน
  • ประจำเดือนมาเยอะจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยในช่วงกลางดึกด้วย
  • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ไหลปะปนออกมากับประจำเดือนเรื่อยๆ

ประจำเดือนมาเยอะเกิดจากสาเหตุอะไร

ประจําเดือนไหลเยอะมากสาเหตุ

1. ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล

ฮอร์โมนไม่สมดุลหรือฮอร์โมนผิดปกติ ปัญหาฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ในร่างกายไม่สมดุล อาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่และการมีประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติได้

2. ภาวะเลือดออกผิดปกติ

ภาวะเลือดออกผิดปกติ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาเลือดไม่ยอมแข็งตัว อาจทำให้มีเลือดออกมากผิดปกติ รวมถึงเลือดประจำเดือนที่จะไหลออกมามากกว่าปกติ

3. มดลูกมีปัญหา

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในเนื้อมดลูก (Adenomyosis)
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นอกมดลูก (Endometriosis)
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
  • เนื้องอกในมดลูก
  • ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือโพรงมดลูก
  • มะเร็ง

4. การคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาฉีดคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด, แผ่นแปะคุมกำเนิด(ยาคุมกำเนิดชนิดแปะ) มีผลเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย และทำให้ยาไปกดการทำงานของรังไข่

5. การใช้ยาบางประเภท

การใช้ยา เช่น ยาเจือจางเลือด ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด อาจส่งผลทำให้มีเลือดออกมากกว่าปกติได้

6. ปัญหาจากโรคต่างๆ

โรคบางชนิดที่สามารถส่งผลต่อการมีประจำเดือนมากผิดปกติได้ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง, ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ, โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคเกี่ยวกับตับหรือไต ที่มีผลต่อกลไกการห้ามเลือด รวมไปถึงการติดเชื้อในช่องคลอดหรือมดลูก ส่งผลให้เลือดประจำเดือนมามากผิดปกติและอาจมีอาการตกขาวมากร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ประจำเดือนมาเยอะ

ปัจจัยที่อาจทำให้เสี่ยงมีประจำเดือนมามาก มีดังนี้

  • โรคประจำตัว เช่น เนื้องอกในมดลูก โรคตับ โรคไต โรคมะเร็งปากมดลูก
  • มีประวัติการแท้งบุตร
  • มีประวัติการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • การใช้ยาที่ส่งผลกระทบกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาเจือจางเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน
  • อายุ มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 29 ปี อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ประจำเดือนมาเยอะ อันตรายไหม

การที่ประจำเดือนมาเยอะผิดปกติมักมาพร้อมโรคที่คาดไม่ถึง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่มะเร็งเท่านั้นแต่ยังมีโรคที่น่ากลัวอื่นๆ เช่น

  • โรคเนื้องอกมดลูก ส่วนใหญ่หากเป็นระยะเริ่มต้นจะไม่แสดงอาการใดๆ ประจำเดือนยังมีมาตามปกติ แม้มีโอกาสกลายเป็นเนื้อร้ายไม่มาก แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากจนไปเบียดอวัยวะข้างเคียงก็จะทำให้เป็นปัญหาได้
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ถ้าไปเจริญที่รังไข่ จะทำให้เกิดเป็นถุงน้ำที่มีของเหลวคล้ายช็อกโกแล็ตอยู่ภายใน (Chocolate cyst) ถ้าแทรกตัวเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก จะทำให้มดลูกมีขนาดโตผิดปกติ (Adenomyosis) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ทั้งสองโรคนี้มักจะทำให้มีอาการปวดประจำเดือน ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือปวดถ่วงเวลาถ่ายอุจจาระรุนแรงขณะมีประจำเดือนได้ และยังส่งผลให้มีบุตรยากได้ด้วย
  • ถุงน้ำรังไข่ (ซีสต์ในรังไข่) มีทั้งที่สามารถยุบเองได้และถุงน้ำที่ไม่สามารถยุบเองได้ ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ช็อกโกแลตซีสต์ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะไม่มีอาการใดๆ แต่บางครั้งจะมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงเฉียบพลันได้ ถ้าถุงน้ำนั้นเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การบิดของขั้วถุงน้ำรังไข่พวกนี้ ก็อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน

การวินิจฉัยประจำเดือนมามาก

1. การตรวจเลือด

ตรวจเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างของเลือดไปตรวจหาความผิดปกติ เช่น ตรวจดูลิ่มเลือด ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ตรวจหาปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์

2. การตรวจชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก

การตรวจชิ้นเนื้อในเยื่อบุมดลูก โดยอาจทำการดูดสุ่ม หรือการขูดมดลูก เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาของเยื่อบุมดลูก สามารถช่วยวินิจฉัย โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งปากมดลูก หรือภาวะไม่ตกไข่ได้

3. การตรวจอัลตราซาวน์

ตรวจอัลตราซาวด์ภาพเนื้อเยื่ออวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อดูพยาธิสภาพของมดลูก, โพรงมดลูก, และรังไข่ เช่น เนื้องอกมดลูก, ติ่งเนื้อโพรงมดลูก, และเนื้องอกรังไข่

4. การส่องกล้องโพรงมดลูก

ส่องกล้องตรวจภายในดูโพรงมดลูก เพื่อดูพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอก, ติ่งเนื้อ, พังผืดในโพรงมดลูก, หรือ ภาวะท่อนำไข่ตัน

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากประจำเดือนมาเยอะ

เมนส์มาเยอะลิ่มเลือด

ประจำเดือนมามากผิดปกติ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น

  • ภาวะซีด จากการเสียเลือดจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • ตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • การมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน

วิธีรักษาอาการประจำเดือนมาเยอะ

วิธีรักษา เมนส์มาเยอะผิดปกติ

1. รักษาด้วยยา

  • ยาแก้ปวดในกลุ่มไม่ใช่สเตรียรอยด์ หรือ เอ็นเสด(NSAIDs) มีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือน และลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกมา
  • ยาฮอร์โมน เช่น ในผู้หญิงอายุน้อย ที่มีปัญหาการไม่ตกไข่

2. รักษาด้วยการผ่าตัด

เพื่อกำจัดเนื้องอกหรือติ่งที่ภายในมดลูก การขูดมดลูก การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) หรือในกรณีรุนแรงอาจต้องผ่าตัดนำมดลูกออก

ภาวะประจำเดือนมาเยอะกับปัญหาผู้มีบุตรยาก

ประจำเดือนมามาก อาจเกิดได้หลายสาเหตุ ซึ่งหลายสาเหตุอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก เช่น

  • ฮอร์โมนไม่สมดุล เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนทำงานผิดปกติ จะเกิดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกมากเกินไปหรือหนาเกินไป
  • ปัญหาเกี่ยวกับมดลูก เพราะมดลูกมีความเกี่ยวโยงกับประจำเดือน หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่มดลูก ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกในมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็สามารถส่งผลต่อประจำเดือนได้
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาหรือการใช้ยา เช่น การใช้ฮอร์โมน การให้เคมีบำบัด การใส่ห่วงคุมกำเนิด
  • การทำงานของร่างกายที่บกพร่องหรือโรคบางอย่าง สามารถส่งผลต่อการมีประจำเดือนมากผิดปกติได้

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อประจำเดือนมาเยอะ

เนื่องจากประจำเดือนมามากอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้ ดังนั้น การดูแลตัวเองและเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เนื้อแดง ไข่ ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักใบเขียว อาจช่วยบำรุงเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะโลหิตจางจากประจำเดือนมามากได้ นอกจากนี้ อาหารเสริมธาตุเหล็กก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกายได้เช่นกัน

คำถามที่พบบ่อย

ประจำเดือนมาเยอะเป็นอะไรไหม?

หากประจำเดือนมามากเกินไป อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ จึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจดูช่องคลอด ปากมดลูก ว่ามีก้อน แผล หรือติ่งเนื้อ เพื่อตรวจว่าติดเชื้อและมีการอักเสบหรือไม่

ทำไมประจำเดือนมีลิ่มเลือด?

โดยปกติในช่วงที่มีประจำเดือน ฮอร์โมนในร่างกายจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมา ซึ่งทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กมีเลือดออก เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเลือดมากเกินไป พลาสมาและเกล็ดเลือดจึงร่วมกันสร้างลิ่มเลือดขึ้นมา เพื่อป้องกันการสูญเสียเลือดของแผลที่เกิดขึ้นบนส่วนอื่นๆของร่างกาย

ประจำเดือนมามากขนาดไหนถึงผิดปกติ?

  • ประจำเดือนมามากติดต่อกันเกิน 7 วัน
  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  • ประจำเดือนมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2-3 ชม. หรือ มีลิ่มเลือดปนมากต่อเนื่อง

ข้อสรุป

ประจำเดือนมาเยอะ (Menorrhagia) คือ การที่มีประจำเดือนไหลออกมาเยอะมาก หรือมานานกว่าเกินกว่า 7 วัน ซึ่งถือว่ามีความอันตรายมาก เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เนื้องอก หรือมะเร็ง นอกจากนี้ภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ เช่น ภาวะซีด ปวดท้องเรื้อรัง ท้องนอกมดลูก เป็นต้น

หากคุณผู้หญิงท่านไหนสังเกตว่ามีประจำเดือนมามากผิดปกติไม่ควรชะล่าใจ แนะนำให้รีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น แต่หากท่านใดยังไม่สะดวกไปปรึกษาแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ Line@ : @beyondivf