
การตรวจการตั้งครรภ์โดยทั่วไปนั้นสามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่มีคำถามเกิดขึ้นมากมายเมื่อใช้งานจริง สำหรับคำถามยอดฮิตที่ว่า ที่ตรวจครรภ์มีกี่แบบ แบบไหนดีที่สุด ตรวจตอนไหนชัวร์ที่สุด และวิธีอ่านผลตั้งครรภ์ดูอย่างไร เราจะมาตอบทุกคำถามกันในบทความนี้
การตรวจครรภ์ (Pregnancy Test)
ที่ตรวจครรภ์หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (Pregnancy Tests) คือ อุปกรณ์ทดสอบภาวะตั้งครรภ์ที่สามารถเช็กได้ด้วยตัวเอง หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยหลักการทำงานของที่ตรวจครรภ์ คือ การตรวจหาฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะเริ่มสร้างขึ้นจากรกหลังเกิดการปฏิสนธิได้ 6 วัน และฮอร์โมนชนิดนี้จะสูงมากในช่วง 8-12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
โดยที่ตรวจครรภ์สามารถใช้ได้กับทั้งการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติและการตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI และการฉีด IUI
อาการที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์
- ประจำเดือนขาด หากปกติแล้วประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ แต่จู่ ๆ ขาดหายไปอาจบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
- คลื่นไส้และอาเจียน มักจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 1 เดือน แต่บางคนอาจจะตั้งครรภ์โดยไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเลยก็ได้
- คัดเต้านม เกิดจากเลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้นจนทำให้มีอาการบวม ตึง และยังไวต่อความรู้สึกคล้ายช่วงมีประจำเดือน
- ปัสสาวะบ่อย เพราะร่างกายผลิตเลือดไปยังส่วนต่างๆ มากขึ้นจึงทำให้ไตขับของเสียออกจากร่างกายมากขึ้นด้วย
- ท้องผูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง รวมถึงเกิดจากการขยายตัวของมดลูกทำให้ไปกดทับลำไส้
- อารมณ์แปรปรวน จะมีอาการโกรธ หรือหงุดหงิดง่าย เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุล
หลายคนสงสัยว่าเราจะสามารถแยกอาการก่อนเป็นประจำเดือนกับอาการของคนตั้งครรภ์ได้อย่างไร? สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ อาการก่อนเป็นประจำเดือน (PMS) มีอะไรบ้าง ต่างกับอาการคนตั้งครรภ์อย่างไร
วิธีตรวจครรภ์มีกี่แบบ
วิธีตรวจตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง
- ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม (Test Strip)
ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม หรือ Test Strip จะมีลักษณะเป็นแผ่นสำหรับนำไปจุ่มลงในปัสสาวะ บางยี่ห้อจะมีถ้วยตวงขนาดเล็กมาด้วยเพื่อใช้ในการเก็บปัสสาวะ เมื่อเก็บปัสสาวะแล้วจึงค่อยนำเอาแผ่นทดสอบไปจุ่มลงในปัสสาวะประมาณ 3 วินาที แล้วเอาขึ้นมาตั้งทิ้งไว้รออ่านผลตรวจหลังจากนั้นประมาณ 5 นาที
- ที่ตรวจครรภ์แบบหยด (Pregnancy Test Cassette)
ที่ตรวจครรภ์แบบหยดหรือเรียกอีกอย่างว่าแบบตลับ มีอุปกรณ์มาให้ 3 อย่างได้แก่ ถ้วยตวงสำหรับเก็บปัสสาวะ หลอดหยด และตลับตรวจครรภ์ วิธีการใช้คือให้นำปัสสาวะใส่ถ้วยตวงแล้วใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะจากถ้วยก่อนจะหยด 3-4 หยดลงในตลับตรวจครรภ์ แล้วตั้งทิ้งไว้รออ่านผลตรวจหลังจากนั้นประมาณ 5 นาที
- ที่ตรวจครรภ์แบบปากกา (Pregnancy Midstream Tests)
ที่ตรวจครรภ์แบบปากกาหรือที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน จะมีแท่งตรวจสอบการตั้งครรภ์สามารถถอดฝาครอบแล้วถือแท่งทดสอบให้ทิศทางลูกศรชี้ลง จากนั้นปัสสาวะผ่านประมาณ 30 วินาที แล้วตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 3-5 นาที
- ที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัล (Digital Pregnancy Test)
ที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัล (Digital Pregnancy Test) จะมีลักษณะคล้ายแบบปากกาใช้การตรวจด้วยการปัสสาวะผ่าน แต่จะมีหน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัล ใช้เวลาในการรอผลประมาณ 3 วินาทีและให้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ
การตรวจตั้งครรภ์กับสถานพยาบาล
การตรวจตั้งครรภ์กับสถานพยาบาลหรือตรวจโดยแพทย์ จะเป็นการตรวจเลือดเพื่อตรวจฮอร์โมน hCG ด้วยวิธีการตรวจจากฮอร์โมน Beta-hCG จะใช้เวลารอฟังผลประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งผลการตรวจจะสามารถบ่งบอกการตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำที่สุด ทั้งนี้การตรวจครรภ์วิธีนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจให้รู้แน่ชัดโดยไว เช่น ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือมีประวัติแท้งบุตร ต้องการข้อมูลเพื่อวางแผนการดูแล ให้ฮอร์โมนเสริมต่างๆ เพื่อป้องกันการแท้งบุตรอีกด้วย
ข้อแนะนำสำหรับการใช้ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
ตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน
สำหรับคำถามยอดฮิตที่ว่าตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน? เราสามารถทราบผลการตั้งครรภ์ได้เร็วสุด 14 วัน การตรวจการตั้งครรภ์ที่รู้ผลเร็วสุดคือการตรวจเลือดเพื่อตรวจฮอร์โมน hCG เมื่อตรวจพบฮอร์โมน hCG จะถือว่าตั้งครรภ์
บทความแนะนำ : ค่าฮอร์โมน hCG คืออะไร? มีส่วนช่วยอย่างไรในการตั้งครรภ์?
ที่ตรวจครรภ์แบบไหนดี
ที่ตรวจครรภ์ที่สะดวกและได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ที่ตรวจครรภ์แบบปากกาหรือชุดตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests) เพราะใช้งานได้สะดวก มีอุปกรณ์ไม่เยอะ ส่วนที่ตรวจครรภ์แบบจุ่มก็จะมีข้อดีคือมีราคาที่ถูกกว่าแบบอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ตรวจครรภ์แบบไหน ผลลัพธ์ที่ได้ก็มีความแม่นยำใกล้เคียงกันประมาณ 98%
ตรวจครรภ์ในช่วงเวลาไหนดีที่สุด
การตรวจครรภ์ด้วยการตรวจปัสสาวะ แนะนำว่าควรใช้ปัสสาวะหลังจากที่ตื่นนอนตอนเช้าจะให้ผลดีมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัสสาวะจากช่วงเวลาอื่นจะให้ผลที่ไม่ดี ที่สำคัญที่สุด คือ การใช้ปัสสาวะจะต้องเป็นการปัสสาวะใหม่เท่านั้น
ข้อควรรู้ก่อนใช้ที่ตรวจครรภ์
ที่ตรวจครรภ์เมื่อซื้อมาแล้วสามารถเก็บเอาไว้ในอุณหภูมิห้องตามปกติได้ที่ไม่เกิน 30 องศา เก็บให้เลี่ยงจากแสงแดดและความชื้น เมื่อฉีกซองที่ตรวจครรภ์แล้วจะต้องใช้ตรวจทันที จึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ แต่ถ้าฉีกแล้วยังไม่มีการใช้งานก็สามารถเก็บเอาไว้ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะหากที่ตรวจครรภ์โดนความชื้นก็จะทำให้ประสิทธิภาพที่มีลดลง อีกทั้งยังอาจทำให้การแสดงผลตรวจผิดพลาดได้อีกด้วย ในการทดสอบซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ควรเว้นระยะห่างจากการตรวจครั้งแรกอย่างน้อย 2 – 3 วัน
ข้อแนะนำสำหรับการใช้ที่ตรวจครรภ์ ได้แก่
- ก่อนใช้ที่ตรวจครรภ์ควรอ่านคู่มือการใช้งานก่อน เพื่อให้ทำการตรวจได้ถูกวิธีและได้ผลการตรวจที่คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
- ควรสังเกตวันหมดอายุของที่ตรวจครรภ์ก่อนใช้งานเพื่อความแม่นยำ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ทดสอบอาจเสื่อมสภาพไปแล้ว หากใช้ชุดตรวจครรภ์ที่หมดอายุจะทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนได้
- ควรใช้ที่ตรวจครรภ์หลังจากวันแรกที่รอบเดือนขาดหายไปอย่างน้อย 7 วันเนื่องจากประจำเดือนอาจมาช้ากว่าปกติเนื่องจากความเครียดของเราเองก็ได้
การอ่านผลตรวจครรภ์

ผลตรวจครรภ์ ขึ้น 1 ขีด
ตรวจแล้วขึ้น 1 ขีด โดยขีดจะขึ้นที่ C เพียงอย่างเดียว ได้ผลแปลว่า ‘น่าจะไม่ตั้งครรภ์’ หมายความว่า ไม่ตั้งครรภ์ หรืออาจจะตั้งครรภ์แต่ยังตรวจไม่พบ
ผลตรวจครรภ์ ขึ้น 2 ขีด
ตรวจแล้วขึ้น 2 ขีด หรือขึ้นเป็น 2 ขีดจางๆ โดยขีดจะขึ้นที่ C และ T คือ ได้ผลบวก แปลว่า ‘น่าจะมีการตั้งครรภ์’ หากขีดขึ้นที่ T จางๆ แนะนำว่าให้รออีกสักประมาณ 2 – 3 วันแล้วตรวจอีกครั้ง
ผลตรวจครรภ์ ไม่ขึ้นขีดใดๆ
ตรวจแล้วไม่ขึ้นแถบสี หรือไม่ขึ้นสักขีด หรือขึ้น 1 ขีดบนตัว T คือ อ่านค่าไม่ได้ แปลว่า ‘ชุดทดสอบการตั้งครรภ์เสีย’ อาจเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนของการผลิต หรือชุดทดสอบหมดอายุ ถ้าตรวจแล้วผลที่แสดงไม่ขึ้นสักขีดก็เท่ากับว่าการตรวจในครั้งนั้นใช้ไม่ได้ ดังนั้นจะต้องทำการตรวจใหม่อีกครั้ง
ผลตรวจครรภ์ แม่นยำแค่ไหน
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แต่ละยี่ห้อมีการยืนยันถึงความแม่นยำที่สูง อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการตรวจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ เช่น
- ช่วงเวลาในการตรวจเร็วเกินไป เนื่องจากปริมาณฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะยังไม่มากพอ จึงไม่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์
- ค่าความไวในการตรวจของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แต่ละยี่ห้อมีการตรวจหาค่าความไวต่อฮอร์โมน hCG ที่ต่างกัน ยิ่งค่าความไวในการตรวจจับฮอร์โมนมีน้อยจะทำให้ผลอาจเป็นลบได้
- ความเข้มข้นของปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะมีความเจือจาง เนื่องจากการดื่มน้ำมากเกินไปก่อนการตรวจ อาจส่งผลต่อความเข้มข้นของฮอร์โมนในปัสสาวะได้เช่นกัน และทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจลดลง
- การรับประทานยาบางประเภท ในยาบางตัวอาจมีส่วนผสมของฮอร์โมน hCG เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) หรือยาแก้แพ้ (Antihistamines) ซึ่งส่งผลต่อการตรวจได้เช่นกัน
ที่ตรวจครรภ์ซื้อที่ไหน ราคาเท่าไหร่
ที่ตรวจครรภ์สามารถหาซื้อที่ได้จากร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป ซึ่งจะมีชุดตรวจครรภ์แบบตรวจปัสสาวะให้เลือกหลายแบบ เช่น ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม (Pregnancy Test Strip) ที่ตรวจครรภ์แบบหยด (Pregnancy Test Cassette) ที่ตรวจครรภ์แบบปากกาหรือที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests) ที่ตรวจครรภ์แบบดิจิทัล (Digital Pregnancy Test)
โดยราคาของชุดตรวจครรภ์จะมีตั้งแต่หลัก 100 บาทขึ้นไป โดยราคาจะแตกต่างกันในแต่ละแบบ แต่ละยี่ห้อ และราคาจะขึ้นกับความแม่นยำของเครื่องตรวจด้วย
คำถามที่พบบ่อย
ตรวจครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด?
ตรวจครรภ์ควรตรวจตอนไหนถึงจะชัวร์ที่สุด? การตรวจครรภ์ควรตรวจเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติหรือถัดจากวันที่ควรมีรอบเดือนประมาณ 1 อาทิตย์ หรือตรวจครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 14 วัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อาจเกิดการปฏิสนธิและตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกทำให้รกเริ่มสร้างฮอร์โมน HCG ขึ้นมา และควรตรวจซ้ำอีกครั้งใน 2-3 วันถัดไป
สามารถตรวจครรภ์ตอนเย็นได้ไหม?
สามารถตรวจครรภ์ตอนเย็นได้ แต่ความแม่นยำอาจจะลดลงเนื่องจากปัสสาวะมีการปนเปื้อนสารอื่นๆ จากอาหารหรือยาที่รับประทานระหว่างวัน
ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีดเข้ม 1 ขีดจาง มีโอกาสท้องไหม?
หากที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีดเข้ม 1 ขีดจาง แปลว่าอาจมีโอกาสตั้งครรภ์ แต่ควรทำการตรวจสอบอีกครั้งในช่วง 2-3 วันถัดไป เนื่องจากอาจมีปริมาณฮอร์โมน hCG เพิ่มขึ้นจากอายุครรภ์ที่เริ่มมีการสร้างรก และทำให้ผลตรวจแม่นยำมากขึ้น
ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ท้อง เกิดจากอะไร?
หากที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด แต่เมื่อตรวจด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยแล้วพบว่าไม่มีการตั้งครรภ์ สาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น มีสารปนเปื้อนในปัสสาวะ หรือเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมถึงคนที่มีฮอร์โมนผิดปกติจากโรค เช่น ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ เป็นต้น
ข้อสรุป
โดยสรุปคือเมื่อตั้งครรภ์เราสามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ด้วยตัวเอง ที่ตรวจครรภ์มีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ แบบจุ่ม แบบตลับหรือแบบหยด แบบปากกาหรือปัสสาวะผ่าน และแบบดิจิทัล ซึ่งทั้ง 4 แบบมีความแม่นยำใกล้เคียงกัน การตั้งครรภ์ในผู้หญิงบางคนอาจมีอาการหรือสัญญาณเตือนต่างๆ ที่คล้ายกับการตั้งครรภ์ในระยะแรก เช่น ประจำเดือนไม่มา หน้าอกขยาย รู้สึกอ่อนเพลีย หรือปวดท้องน้อย
หากมีอาการเหล่านี้สามารถใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อตรวจดูการตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าหากยังไม่มั่นใจสามารถเข้าไปที่สถานพยาบาลเพื่อตรวจขอตรวจเลือดดูการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน หากท่านไหนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์ รวมถึงปัญหาผู้มีบุตรยาก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านทาง Line : @beyondivf