การเลี้ยงตัวอ่อนคืออะไร?
การเลี้ยงตัวอ่อน เป็นกระบวนการหลังจากการเก็บเซลล์ไข่และคัดเชื้ออสุจิ แล้วนำเซลล์ไข่กับอสุจิมาปฏิสนธิกันจนเป็นตัวอ่อนในห้องแล็ป เรียกว่า Zygote ด้วยวิธีการเด็กหลอดแก้ว คือนำตัวอสุจิ 1 ตัว เจาะเข้าไปที่เซลล์ไข่ 1 ใบ โดยจะใช้ระยะในการเลี้ยงเป็นตัวอ่อนประมาณ 3-5 วัน หลังจากเริ่มทำ ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) โดยกระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนต้องใช้นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญด้านเลี้ยงตัวอ่อนในการเพาะเลี้ยง ถ้าไม่มีการควบคุมและระมัดระวังเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญ อาจทำให้การใส่ตัวอ่อนไม่ประสบความสำเร็จได้
ระยะของตัวอ่อนมีกี่ระยะ?
Day 1: ระยะไซโกต (Zygote) ภายใน 16 – 20 ชั่วโมง จะมีการตรวจดูว่าตัวอ่อนมี pronuclei ไหม ถ้ามีแสดงว่าเซลล์ไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันเรียบร้อยสามารถเจริญเติบโตต่อได้
Day 3: ระยะคลีเวจ (Cleavage) หลังจาก 24 ชั่วโมงเป็นต้นไปจนถึง 4 วัน จะตรวจดูว่าตัวอ่อนมีการแบ่งเซลล์ดีไหม โดยปกติควรจะมี 8 เซลล์ขึ้นไป ในช่วงนี้หากพบว่าตัวอ่อนไม่ค่อยเติบโต นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญด้านเลี้ยงตัวอ่อนจะมีการเจาะเปลือกตัวอ่อน (Assisted Hatching – AH) เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนรับสารอาหารจากน้ำยาที่เลี้ยงได้เต็มที่มากขึ้น และเป็นกระบวนการที่ทำให้เปลือกบางลงเพื่อให้ตัวอ่อนฟักตัวออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ง่ายต่อการดึงเซลล์เพียงเล็กน้อยของตัวอ่อนเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์อีกด้วย
Day 5 – 6: ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) ช่วงประมาณ 120 ชั่วโมงหลังผสม จะตรวจดูตัวอ่อนว่าแข็งแรงดีไหมและจะมีการคัดเกรดของตัวอ่อน จากนั้นจึงคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์มากที่สุดเพื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกต่อไป
ความนิยมและเกณฑ์ในการเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อทำเด็กหลอดแก้วส่วนมากมี 2 แบบ
แบบที่ 1 : ตัวอ่อนระยะ 3 วัน (คลีเวจ Cleavage) เป็นระยะที่ตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัว ระยะนี้จะเป็นระยะหลังเซลล์ไข่กับอสุจิผสมกันแล้ว 24 – 72 ชั่วโมง คือตัวอ่อนจะแบ่งตัวแบบทวีคูณจาก 1 เซลล์เป็น 2 เซลล์ เป็น 4 เซลล์ 6 เซลล์ 8 เซลล์ จนกระทั่งเซลล์มีจำนวนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นได้ผ่านกล้องว่ามีการแบ่งตัวจนมีจำนวนมากขึ้น และเกิดการรวมตัวกัน ยึดเกาะกัน หรือที่เรียกว่า Compacted Morula ซึ่ง Morula ที่ดีควรประกอบด้วยเซลล์ 16-32 เซลล์รวมตัวอัดแน่นเป็นก้อนเดียว
ในบางสถานพยาบาลเลือกตัวอ่อนระยะ 3 วัน (Cleavage) เพื่อย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก อาจจะมาจากที่คนไข้มีข้อจำกัดเรื่องการเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกาย หรือตัวอ่อนมีโอกาสพัฒนาไปถึงระยะ 5 วัน (Blastocyst) ได้น้อย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงพิจารณาใส่ตัวอ่อนกลับในระยะนี้ เนื่องจากเป็นผลดีกว่าที่รอไปถึงระยะต่อไปที่ตัวอ่อนมีโอกาสหยุดเจริญเติบโตได้
แบบที่ 2 : ตัวอ่อนระยะ 5 วัน (บลาสโตซิสท์ Blastocyst) เป็นระยะที่มีตัวอ่อนเจริญเติบโต 5 – 6 วันหลังจากที่ทำ ICSI เด็กหลอดแก้ว จะเป็นตัวอ่อนที่เหมาะกับการฝังตัว มีการแบ่งตัวมาจนมีจำนวนประมาณ 80-120 เซลล์ ซึ่งตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์นี้จะประกอบด้วยเซลล์อยู่ 2 ชนิดคือ
- Inner Cell Mass เป็นเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนและไปฝังตัวที่มดลูก
- Trophectoderm เป็นเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นรกไปเกาะที่ผนังมดลูก
ตัวอ่อนระยะ 5 วัน (Blastocyst) จะมีข้ออธิบายตามลักษณะทางกายภาพ รูปร่างลักษณะดูแล้วมีความเหมาะสมในการฝังตัวมากกว่า อีกทั้งระยะ 3 วัน (Cleavage) จะเป็นช่วงที่ตัวอ่อนอยู่ในท่อนำไข่ จึงอาจจะยังไม่พร้อมในการฝังตัว ต้องใช้เวลาพัฒนาให้เป็นระยะ 5 วัน (Blastocyst) ก่อนจึงจะพร้อมสำหรับการฝังตัวที่โพรงมดลูก นอกจากนั้นระยะ 3 วัน (Cleavage) อาจมีโอกาสหยุดการเจริญเติบโตก่อนการฝังตัวได้ด้วย ดังนั้นจึงค่อนข้างนิยมย้ายตัวอ่อนระยะ 5 วัน (Blastocyst) กลับเข้าสู่โพรงมดลูกมากกว่า และที่สำคัญการที่เราเลี้ยงตัวอ่อนมาถึงระยะ 5 วัน (Blastocyst) ก็เป็นเหมือนการคัดเลือกตัวอ่อนตามธรรมชาติ เพื่อที่เราจะได้เลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงสามารถรอดชีวิตอยู่กลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เติบโตเป็นทารกต่อไปนั่นเอง
การปฏิบัติตัวหลังการใส่ตัวอ่อน
- นอนพักหลังการใส่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นสามารถเดิน ทางกลับบ้านได้
- สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ (การขึ้นเครื่องไม่มีผลเสีย)
- งดเพศสัมพันธ์และไม่สวนล้างช่องคลอด
- สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุว่าการจำกัดกิจกรรมจะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ นอนพักนิ่งๆไม่ช่วยเพิ่มโอกาสการฝังตัวของตัวอ่อน
- งดการออกกำลังกายหนักๆ เช่น ปีนเขา วิ่งมารธอน เทนนิส เป็นต้น
- ไม่รับประทานยานอกเหนือจากที่แพทย์กำหนด หรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานั้น
“การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นงานละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการเลี้ยงตัวอ่อนให้ถึงระยะ 5 วันนั้นจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ เทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นระยะสูงสุดที่เทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำได้ (ที่ Beyond IVF ของเราใช้วิธีนี้ เราจะไม่ย้ายตัวอ่อนระยะอื่น) ทำให้เพิ่มโอกาสสำเร็จได้มากขึ้นเพราะระยะการฝังตัวของตัวอ่อนในร่างกายมนุษย์จะฝังเป็นระยะนี้พอดี รวมถึงข้อดีเมื่อตัวอ่อนโดตถึงระยะนี้จะสามารถดึงเซลล์เพื่อไปตรวจหาความผิดปกติของคู่โครโมโซมได้ ยิ่งเพิ่มโอกาสความสำเร็จได้มากขึ้น”
ถ้าคุณผู้หญิงท่านใดมีความกังวลใจสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ Beyond IVF หรือจะแอดไลน์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ @beyondivf