ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร
ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy/Hydatidiform Mole) คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ โดยตัวอ่อนของทารกและรกไม่เจริญขึ้นมาตามปกติ เนื้อเยื่อของตัวอ่อนกลายเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงในมดลูกแทน โดยทั่วไป รกจะช่วยลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงทารกในครรภ์ รวมทั้งกำจัดของเสียออกไป หากเซลล์ที่สร้างรกทำงานผิดปกติหลังจากที่ไข่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว จะทำให้เกิดถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพวงองุ่นสีขาวหรือไข่ปลา เซลล์ดังกล่าวจะเจริญภายในมดลูกอย่างรวดเร็วแทนการเจริญเป็นทารกโดยมีชื่อเรียกว่าครรภ์ไข่ปลาอุก แม้ครรภ์ไข่ปลาอุกจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แต่ถือเป็นภาวะก่อนเป็นมะเร็งของโรคมะเร็งไข่ปลาอุกหรือมะเร็งเนื้อรก (Gestational Trophoblastic Disease)
ภาพตัวอย่างครรภ์ไข่ปลาอุก
อาการของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
อาการที่ปรากฎจะเหมือนกับการตั้งครรภ์โดยทั่วไป แต่จะมีอาการที่คล้ายภาวะแท้งผสมอยู่ด้วย คุณแม่หลายคนจึงเข้าใจว่าตัวเองแท้ง อาการของผู้ที่มีภาวะตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คือ
- เลือดออกจากช่องคลอดในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ จะเริ่มเมื่ออายุครรภ์ได้ 4 สัปดาห์ โดยเลือดจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีแดงอ่อน บางครั้งอาจมีเนื้อเยื่อที่คล้ายๆองุ่นออกมาด้วย
- ปวดท้องกระทันหันและมดลูกขยายใหญ่กว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดบีบบริเวณอุ้งเชิงกราน และท้องบวมโตกว่าอายุครรภ์จริงๆจนเหมือนท้องแฝด
- คลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
- อ่อนเพลียเนื่องจากมีเลือดออกที่ช่องคลอดมาก
- ปรากฎอาการของไทรอยด์เป็นพิษ คือ เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เหงื่อออกมากผิวหนังซีด
- อาการครรภ์เป็นพิษ ทำให้ความดันสูง และมีโปรตีนปนในปัสสาวะ
สาเหตุของการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุก
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยไปเลยหรืออายุมากไปเลย ได้แก่ ในการตั้งครรภ์ของกลุ่มวัยรุ่น และการตั้งครรภ์ของหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ความอันตรายของไข่ปลาอุกคือสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ พบ 1 ใน 5 หากกลายเป็นมะเร็งและได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นมีโอกาสหายได้ 100% แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยทิ้งไว้จนถึงระยะลุกลามจะทำให้รักษาได้ยาก
ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียวไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิมีโครโมโซมที่มาจากพ่อทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีตัวอ่อน ถุงน้ำคร่ำ หรือเนื้อรกเจริญขึ้นภายในไข่ แต่เกิดถุงน้ำรังไข่จำนวนมากคล้ายพวงองุ่นเจริญขึ้นมาแทน
- ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับมีทารกไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิมีโครโมโซมที่มาจากแม่จำนวน 23 โครโมโซม และมีโครโมโซมจากพ่อเป็นสองเท่า คือ 46 โครโมโซม ส่งผลให้มีโครโมโซมทั้งหมด 69 โครโมโซม ภาวะนี้เกิดจากการเพิ่มโครโมโซมซ้ำ (Duplication) ของโครโมโซมฝ่ายพ่อ หรือมีอสุจิสองตัวปฏิสนธิภายในไข่ใบเดียวกัน ทั้งนี้ ทารกที่เจริญขึ้นมาส่วนใหญ่มักเกิดความผิดปกติหรือไม่สามารถอยู่รอดได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 40 ปีขึ้นไปคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีจะมีความเสี่ยงตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นจะทำให้ไข่มีโอกาสเกิดการปฏิสนธิที่ผิดปกติได้ง่ายมากขึ้น ส่วนคุณแม่ที่อายุน้อยกว่า 18-20 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- คุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
- มีประวัติการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ผู้ที่เคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาแล้ว 1 ครั้ง จะมีโอกาสตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกซ้ำได้อีกประมาณ 1-2% ในครรภ์ต่อไป ส่วนผู้ที่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาแล้ว 2 ครั้งจะมีโอกาสตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกซ้ำได้อีกเพิ่มขึ้นเป็น 16-28% ในครรภ์ต่อไป
- ภาวะโภชนาการ จากการศึกษาพบว่าการรับประทานแคโรทีนน้อยและมีภาวะพร่องวิตามินเอจะช่วยเพิ่มการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดที่ไม่มีส่วนของทารกปนอยู่ด้วย
- มีประวัติประจำเดือนไม่สม่ำเสมอและประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดที่มีทารกหรือส่วนของทารกปนอยู่ด้วย
- การสูบบุหรี่
- กรรมพันธุ์
การรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก
ผู้ตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก จะตั้งครรภ์ต่อไปไม่ได้ ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- ขูดมดลูก (suction curettage) เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เป็นทั้งการรักษาและวินิจฉัยจากการทำให้ได้ชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป
- ผ่าตัดมดลูก (hysterectomy) ข้อบ่งชี้คือพิจารณาทำในกลุ่ม ดังต่อไปนี้ หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า, หญิงตั้งครรภ์นั้นมีเนื้องอกของครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นจำนวนมากและเสี่ยงเป็นมะเร็ง, หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้วในอนาคต, มีอาการตกเลือดรุนแรงจากมดลูกทะลุ
- การให้ยาเคมีบำบัดป้องกัน (prophylactic chemotherapy)
- ติดตามระดับฮอร์โมน
- คุมกำเนิด ผู้ป่วยต้องคุมกำเนิดระหว่างเข้ารับการติดตามระดับฮอร์โมน เนื่องจากต้องรอประมาณ 1 ปี เพื่อให้ระดับฮอร์โมนเอชซีจีหายไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกนั้น จะไม่ประสบปัญหาการมีบุตรยากหรือปัญหาสุขภาพครรภ์ อีกทั้งยังไม่เสี่ยงเกิดทารกตายในครรภ์ ทารกพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ส่วนการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็มีโอกาสเพียงร้อยละ 1-2
ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงท่านไหนมีความกังวลใจสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ Beyond IVF หรือแอดไลน์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ @beyondivf