วิตามินและแร่ธาตุกับแม่ตั้งครรภ์สำคัญอย่างไร?
“แม่ตั้งครรภ์” ต้องเสริมวิตามินและแร่ธาตุมากกว่าคนปกติ เพราะจะช่วยบำรุงทั้งแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ หากได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย อาจจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้โดยตรง ซึ่งวิตามินและแร่ธาตุที่แม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ ประกอบด้วย
ธาตุเหล็ก (Iron supplement) จำเป็นอย่างมากในช่วงตั้งครรภ์ เพราะธาตุเหล็กมีส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน ซึ่งอยู่ในเม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซล์ต่างๆ ของร่างกายทั้งของแม่และทารก โดยทารกในครรภ์จะดึงธาตุเหล็กในเลือดของแม่ไปสร้างเม็ดเลือดแดงของตัวทารกเองอยู่ตลอดเวลา และเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการเสียเลือดในขณะคลอดบุตรด้วย ซึ่งปริมาณธาตุเหล็กที่แม่ตั้งครรภ์ควรได้รับประมาณ 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแพทย์จะแนะนำให้รับประทานธาตุเหล็กในรูปของยาบำรุงเลือด ตลอดระยะตั้งครรภ์ร่วมกับการรับประทานอาหารชนิดต่างๆ สำหรับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ตับ งา ลูกพรุน เนื้อแดง ผักโขม ไข่แดง เม็ดถั่วลันเตา ถั่วแดง สาหร่ายทะเล เป็นต้น แต่การรับประทานธาตุเหล็กอาจจะมีอาการข้างเคียง กระตุ้นให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ในรายที่มีอาการแพ้ท้อง โดยเฉพาะ 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และการดูดซึมธาตุเหล็กในทางเดินอาหารจะถูกขัดขวางด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียม จึงไม่ควรรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับยาลดกรดเคลือบกระเพาะ เช่น แอนตาซิน เป็นต้น หากแม่ตั้งครรภ์มีระดับค่าฮีโมโกลบินต่ำบางคนอาจมีอาการซีดขณะตั้งครรภ์ได้เมื่อเข้าสู่ระยะคลอดแม้จะมีการเสียเลือดไม่มากนักก็อาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อยเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และเพิ่มอัตราการตายของทารกและแม่อีกด้วย
ไอโอดีน (Iodine) เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จะช่วยลดภาวะสมองไม่เจริญเติบโต มีสติปัญญาต่ำ และภาวะโรคคอพอกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยแม่ตั้งครรภ์จะต้องการไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากต่อมไทรอยด์จะทำงานเพิ่มขึ้นหลังจากที่ตั้งครรภ์ได้ 2-3 เดือน และขณะตั้งครรภ์จะมีการสูญเสียไอโอดีนออกทางไตมากขึ้น ซึ่งปริมาณไอโอดีนที่ต้องการคือ 175 ไมโครกรัม/วัน แม้จะเป็นปริมาณที่น้อยแต่การรับประทานอาหารทะเล เกลือที่มาจากอาหารทะเลก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องทานในปริมาณที่พอดีไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะการได้รับไอโอดีนจากการรับประทานอาหารทะเล หรือสาหร่ายทะเลในปริมาณมากเกินไป อาจไปกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์ทำให้เกิดเป็นโรคคอพอกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ นอกจากจะเกิดผลเสียต่อทารกโดยทำให้เกิดภาวะมีสติปัญญาต่ำชนิดที่ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมไปถึงความผิดปกติของระบบประสาทหลายอย่างแล้ว ตัวแม่เองก็อาจเป็นโรคคอพอกได้เช่นกัน
แคลเซียม (Calcium) ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารก การได้รับแคลเซียมเสริมในอัตราที่เพียงพอจะช่วยรักษาความหนาแน่นของกระดูกแม่ และช่วยลดอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น มีอาการตะคริว อาการต่าง ๆ ของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดด้วย หากแม่ตั้งครรภ์รับแคลเซียมไม่เพียงพอร่างกายจะสลายแคลเซียมจากกระดูกของแม่ไปยังทารกแทน และเมื่อเกิดการสลายของกระดูก แม่จะประสบภาวะกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน ทำให้ฟันผุ ปวดกระดูก และอาจเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์(ครรภ์เป็นพิษ) หรือภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งเปรียบเสมือนกับตัดวงจรอาหารของทารกทำให้เสียชีวิตในครรภ์ทันที โดยปริมาณแคลเซียมที่ต้องการคือ 1,500 มิลลิกรัม/วัน หรือเท่ากับดื่มนมวัว 4 กล่อง แต่ต้องระวังเรื่องไขมันด้วยฉะนั้นควรดื่มนมพร่องมันเนย หรือเลือกรับแคลเซียมจากแหล่งอื่นควบคู่ไปกับนมด้วยก็สามารถช่วยเสริมได้ สำหรับอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง ได้แก่ นม โยเกิร์ต กุ้งแห้ง งา ปลากรอบตัวเล็ก ผักใบเขียวเข้มทุกชนิด ผลิตภัณฑ์จากถั่ว เต้าหู้ ปลาซาร์ดีน(งดอาหารกระป๋อง) คะน้า บร็อคโคลี่ ข้าวโอ๊ต เป็นต้น แต่หากได้รับแคลเซียมในปริมาณมากเกินไปลำไส้จะดูดซึมไม่ทัน ทำให้เกิดผลึกแคลเซียมในทางเดินอาหาร แม่ตั้งครรภ์จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูกได้ เพราะฉะนั้นควรรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่พอดี
กรดโฟลิก หรือโฟเลท (Folic acid / Folate) เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการระบบประสาทและสมอง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์และอวัยวะต่างๆ และยังสามารถช่วยลดการเกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้ หากได้รับโฟเลตไม่เพียงพอในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจากของแม่ และเพิ่มการเสี่ยงความพิการของลูกในครรภ์ เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับกะโหลกศีรษะ และกระดูกสันหลังของทารก หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อหุ้มไขสันหลังปิดไม่สนิทได้ นอกจากนั้นยังช่วยลดปัญหาโรคโลหิตจาง ชนิดที่เรียกว่าธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดแดง สำหรับปริมาณโฟเลทที่ต้องการต่อวัน คือประมาณ 550 ไมโครกรัม/วัน โดยส่วนใหญ่เมื่อเริ่มฝากครรภ์แพทย์จะจ่ายยาให้อยู่แล้ว รับประทานโฟเลทเม็ดตามที่แพทย์สั่งดีที่สุด แต่สำหรับผู้หญิงที่เริ่มวางแผนการมีบุตร ควรจะเสริมโฟเลทตั้งแต่ 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
สังกะสี (Zinc) ช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ต่างๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการแบ่งตัวของเซลล์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และซ่อมแซมบาดแผลโดยเฉพาะในเซลล์ผิวหนัง ปริมาณสังกะสีในน้ำเลือด(พลาสมา) คิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของทั้งร่างกาย และเกือบทั้งหมดจะจับตัวอยู่กับโปรตีนและกรดอะมิโน หากขาดสังกะสีอาจทำให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้า น้ำหนักน้อย และเส้นรอบศีรษะเล็กผิดปกติ แถมยังทำให้เวลาที่แม่เป็นแผลจะหายช้าขึ้น แม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานสังกะสีประมาณ 15 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งจากอาหารที่รับประทานโดยทั่วไปก็เพียงพอแล้ว และการได้รับสังกะสีในปริมาณที่มากไปนั้นยังไม่พบความผิดปกติใดๆ อาจจะทำให้แม่มีอาการเบื่ออาหารได้มากขึ้นเท่านั้น
วิตามินเอ (Vitamin A) มีผลในเรื่องช่วยในการเจริญเติบโต และพัฒนาระบบต่างๆ ของทารกค่อนข้างมาก เช่น ระบบ ประสาท หัวใจ ปอด ไต ตา ระบบสืบพันธุ์ กระดูก และระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยลดอัตราการตายของแม่และเพิ่มอัตรารอดของทารก ลดภาวะโลหิตจางและอัตราการติดเชื้อในช่วงหลังคลอด ปริมาณวิตามินเอที่ต้องการคือ 800 IU/วัน ซึ่งโดยปกติแพทย์จะจัดวิตามินเอให้ในรูปแบบของยาเม็ด แต่ถ้าหากได้รับวิตามินเอเกิน 10,000 IU/วัน โดยเฉพาะช่วงก่อนอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อการสร้างกะโหลก หรือระบบประสาทส่วนกลางของทารก รวมไปถึงระบบการทำงานของต่อมไทมัส ซึ่งเป็นต่อมที่อยู่บริเวณเหนือหัวใจของทารกได้ แต่จะพบได้น้อยทารกที่ขาดวิตามินเอ เพราะนอกจากวิตามินเอที่แพทย์จัดให้แล้ว ผักและผลไม้ตามธรรมชาติก็มีวิตามินเอสูง แต่ไม่พบความเสี่ยงในการเกิดวิตามินเอเกินปริมาณที่กำหนด เพราะจะมีการดูดซึมและเปลี่ยนรูปเป็นวิตามินเอในปริมาณที่จำกัด
วิตามินซี (Vitamin C) ช่วยสร้างให้รกแข็งแรงลดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และลดอาการแพ้ต่างๆ ป้องกันโรคภูมิแพ้มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กและยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย ร่างกายต้องการวิตามินซีทุกวันเพราะไม่สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ ในขณะตั้งครรภ์ปริมาณวิตามินซีที่ต้องการเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ได้รับเพียงพอจากการรับประทานอาหารตามปกติอยู่แล้ว แต่หากทานวิตามินซีมากเกินไปอาจทำให้เป็นหวัดได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะแม่ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว
พลังงานและโปรตีน (Protein) สำหรับแม่ตั้งครรภ์โปรตีนและพลังงานมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยเสริมสร้างอวัยวะส่วนต่างๆ ของลูกอีกทั้งยังช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของตัวแม่เองด้วย ตลอดการตั้งครรภ์แม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10-15 กิโลกรัม ซึ่งจะเป็นน้ำหนักของลูก รก น้ำคร่ำ มดลูกและเต้านมที่มีขนาดโตขึ้น รวมไปถึงสารน้ำที่สะสมทั้งภายใน และภายนอกหลอดเลือดประมาณ 9 กิโลกรัม พลังงานที่แม่ต้องการคือประมาณ 2,500 กิโลกรัมแคลอรี่/วัน ส่วนอาหารหลัก 5 หมู่ ที่ต้องการมากที่สุดคือโปรตีน ประมาณ 60 กรัม/วัน หรือไก่ขนาดครึ่งตัว แต่ใน 1 วันเราจะได้โปรตีนจากอาหารอื่นๆ อยู่แล้ว แต่หากทานโปรตีนมากเกินไปทารกจะมีโอกาสน้ำหนักมากเกิน ซึ่งเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด คลอดยาก หรือผ่าตัดคลอด เป็นต้น นอกจากนี้หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลา อาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย ผลกระทบคือร่างกายของทารกจะชินกับการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหลังคลอดพอตัดสายสะดือ ทารกจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวใจของทารกต้องทำงานหนักขึ้น รวมทั้งอุณหภูมิในร่างกายของทารกก็จะผิดปกติ และอาจเกิดภาวะทารกในครรภ์น้ำหนักน้อย โตช้า คลอดก่อนกำหนด หรือถ้ารุนแรงทารกอาจเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์ พูนศักดิ์ สุชนวณิช
สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook ท้องง่าย by หมอต้น , Beyond IVF