ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน


ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
 ที่ถูกเรียกว่า ฮอร์โมนเพศหญิง แน่นอนว่าต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับประจำเดือน และการตั้งครรภ์ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบอย่างละเอียดว่าแท้จริงแล้วฮอร์โมนนี้มีหน้าที่อย่างไร สำคัญแค่ไหน แล้วหากพบปัญหาฮอร์โมนต่ำหรือสูงเกินไป ต้องทำอย่างไร

ตอบคำถาม: ทำความรู้จักกับ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน คืออะไร?

  • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน คือ ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเตรียมความพร้อมให้มดลูก ช่วยให้ผนังมดลูกมีความหนาขึ้น เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะมีการผลิตจากรังไข่ และจะเกิดการหลั่งฮอร์โมนหลังตกไข่
  • อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังมีหน้าที่สำคัญในการช่วยการควบคุมการทำงานพื้นฐานภายในร่างกาย ตั้งแต่ความรู้สึก ความหิว อุณหภูมิภายในร่างกาย เป็นต้น
  • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ความต้องการทางเพศ ไปจนถึงการกระตุ้นต่อมน้ำนมให้เติบโตอีกด้วย
  • การที่ร่างกายของผู้หญิงมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอยู่ในระดับไม่สมดุล โดยเฉพาะระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ต่ำในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดความเสี่ยงการแท้งบุตรได้

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

Progesterone (ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน) คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมภาวะไข่ตกและการมีประจำเดือน และคอยควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย ได้แก่ การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย ความหิว การนอน ความรู้สึกต่างๆ รวมถึงความต้องการทางเพศ และการสร้างฮอร์โมนหลายชนิดรวมถึงควบคุมการหลั่งฮอร์โมนด้วย จึงมีความเกี่ยวข้องในการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์

อยากมีลูก ไม่ท้องสักที รีบปรึกษาแพทย์ ก่อนถึงวัยมีลูกยาก ปนึกษาแพทย์ฟรี คลิก

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำหน้าที่อะไร

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทําหน้าที่

โดยหน้าที่ของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีดังนี้

  • โปรเจสเตอโรนจะกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเยื่อบุมดลูกเพิ่มขึ้น เพื่อให้เยื่อโพรงมดลูกหนาและคงตัวพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ โปรเจสเตอโรนก็จะลดระดับลงทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
  • ขณะตั้งครรภ์ โปรเจสเตอโรนจะยับยั้งมดลูกไม่ให้บีบตัว แต่เมื่อใกล้คลอดโปรเจสเตอโรนจะลดปริมาณลง มดลูกจึงบีบตัวเพื่อช่วยในการคลอดลูก
  • ขณะตั้งครรภ์โปรเจสเตอโรนจะช่วยปรับการทำงานของร่างกายเพื่อให้เหมาะกับทารกที่จะเติบโตอยู่ในครรภ์ เช่น กระตุ้นให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หายใจเร็วขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ช่วยให้ข้อต่อและเอ็นยืดขยายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสรีระเมื่อทารกเติบโตในครรภ์
  • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังมีหน้าที่สำคัญในการทำงานร่วมกับฮอร์โมนอินซูลิน โดยจะช่วยเพิ่มสะสมของไกลโคเจน

มีการทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยจะช่วยให้ขนาดของเต้านมใหญ่ขึ้นและปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น จากกระบวนการทำงานร่วมกันที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะกระตุ้นการทำงานให้เกิดการสร้างท่อน้ำนมให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนกระตุ้นการสร้างถุงน้ำนมนั่นเอง

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนกับการตั้งครรภ์

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนกับการตั้งครรภ์

ในช่วงที่ตั้งครรภ์ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปกติมาก โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนจะส่งผลให้เส้นเอ็นและข้อต่อเกิดการคลายตัวมากขึ้น รวมทั้งทำให้โครงสร้างภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับทารกในครรภ์และการคลอดบุตร โดยมีผลต่อร่างกายคุณแม่ ดังนี้

  • ทำให้มดลูกขยายตัวและเปลี่ยนแปลงรูปร่างของคุณแม่
  • กระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน
  • มูกที่บริเวณปากมดลูกเหนียวข้นขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิตัวอื่นมาผสมกับไข่อีก
  • ช่วยเพิ่มอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสมพร้อมกับการตั้งครรภ์
  • ช่วยส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน
  • ทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อกระตุ้นการทำงานของท่อน้ำนม
  • ป้องกันการหดหรือบีบตัวของมดลูกระหว่างการตั้งครรภ์

ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่สมดุล

ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงเกินไป

หากมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงเกินไปจะส่งผลกระทบดังต่อไปนี้

  • เกิดอาการเจ็บเต้านม
  • ขนาดเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง โดยจะส่งผลให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย โมโหง่ายมากยิ่งขึ้น
  • สามารถเกิดโรคซึมเศร้าขึ้นได้ในบางราย
  • นอนไม่หลับ นอนหลับยาก
  • ในบางคนอาจเกิดอาการท้องอืด

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์

  • ค่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ ก่อนการตั้งครรภ์

หากมีค่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำก่อนตั้งครรภ์ ก็จะทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีหน้าที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมในการฝังตัวของตัวอ่อน และยังเป็นฮอร์โมนที่เสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ที่เพิ่มการสะสมไกลโคเจน และยังป้องกันไม่ให้มดลูกหดรัดตัวระหว่างตั้งครรภ์

  • ค่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ ในระหว่างการตั้งครรภ์

ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ถ้าค่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ ถือว่าอันตรายมากอาจถึงขั้นการตั้งครรภ์ล้มเหลวหรือเรียกว่า ‘แท้งบุตร’ นั่นเอง แต่โดยส่วนใหญ่ถ้าคุณหมอตรวจและพบว่าค่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ คุณหมอจะให้รับประทานฮอร์โมน หรืออาจจะเป็นการเหน็บหรือการฉีด เพื่อให้ประคองไม่ให้เกิดการแท้งบุตรได้

ค่าฮอร์โมนไม่สมดุล ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะมีบุตรยาก อ่านเพิ่มเติมได้ที่ มีลูกยาก มีบุตรยาก คืออะไร สาเหตุ รักษาได้อย่างไร ตอบโดยแพทย์เฉพาะทาง

ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในเกณฑ์ปกติ

ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

สำหรับค่าระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนโดยทั่วไป จะแตกต่างกันตามวันที่ไข่ตก โดยมีหน่วยเป็น ng/ml

  • วันแรกที่มีประจำเดือนจนถึงวันก่อนไข่ตก ค่าฮอร์โมนจะอยู่ที่ 0.2-1.5 ng/ml
  • วันไข่ตก ค่าฮอร์โมนจะอยู่ที่ 0.8-3.0 ng/ml
  • หลังวันไข่ตกจนถึงวันก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป ค่าฮอร์โมนจะอยู่ที่ 1.7-27 ng/ml

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน กับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ต่างกันอย่างไร

แม้ว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนกับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีการทำงานร่วมกัน แต่ฮอร์โมนทั้ง 2 นั้นมีความแตกต่างทั้งหน้าที่การทำงานไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

โดยหลัก ๆ แล้วฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการสืบพันธุ์ของเพศหญิง กล่าวให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นก็คือ จะควบคุมระบบสืบพันธุ์ทั้งหมดของเพศหญิง พร้อมทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานอื่น ๆ ภายในร่างกายอีกด้วย ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเกิดการหลั่งก่อนการตกไข่

แตกต่างจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะมีหน้าที่หลัก ๆ เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะช่วยเตรียมความพร้อมให้ภายในมดลูกอยู่ในสภาพที่เหมาะสม เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน ไปจนถึงเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนและความต้องการทางเพศ โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเกิดการหลั่งหลังจากการตกไข่

นอกจากการทำงานและระยะเวลาในการหลั่งฮอร์โมนที่แตกต่างกันแล้ว ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดยังถูกผลิตจากแหล่งที่มาที่ต่างกันอีกด้วย โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะถูกผลิตจาก Theca Interna Cell ในรังไข่ ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะถูกผลิตจาก Luteal Cell ในรังไข่ ต่อมหมวกไต และรก (ขณะตั้งครรภ์)

วิธีปรับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนให้สมดุล

วิธีรักษาสมดุลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนได้ เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิก โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งได้ปลดปล่อยความเครียดอีกด้วย

ทานอาหารบำรุงฮอร์โมน

การเลือกทานอาหารที่ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนถือว่าเป็นการเพิ่มฮอร์โมนด้วยวิธีธรรมชาติและดีต่อสุขภาพอีกด้วย การรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีดังนี้

  • กล้วย จะมีวิตามินบี 6 ที่ช่วยในการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและรักษาระดับฮอร์โมนให้สมดุล 
  • ถั่ว ถั่วเต็มไปด้วยสารอาหาร เช่น สังกะสี แมกนีเซียม และวิตามินบี 6 ช่วยรักษาระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน การลดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนโดยอัตโนมัติ สิ่งนี้ช่วยต่อสู้กับความเครียด
  • เมล็ดแฟลกซ์ เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยลิกแนน สามารถช่วยจับเอสโตรเจนส่วนเกินได้ และยังเป็นตัวช่วยในการเพิ่มการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายอีกด้วย
  • อาหารทะเล กรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและรักษาระดับฮอร์โมนให้สมดุล ตัวอย่างของอาหารทะเล เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน และปลาทูน่า อุดมไปด้วยสารอาหารเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนตามธรรมชาติ 
  • สัตว์ปีก เช่น ไก่ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 และกรดอะมิโนจำเป็นที่เรียกว่า L-Arginine ในภาวะเจริญพันธุ์ของเพศหญิงไนตริกออกไซด์มีบทบาทสำคัญในการปลูกถ่าย การสร้างเส้นเลือดใหม่ และการทำงานโดยรวมของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง อาร์จินีนช่วยในการผลิตไนตริกออกไซด์เพื่อทำหน้าที่ในการเจริญพันธุ์และการสืบพันธุ์ที่จำเป็น รวมถึงการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกาย
  • ข้าวสาลี โปรเจสเตอโรนมีความสำคัญในการป้องกันการมีประจำเดือนผิดปกติและอาการ PMS Wheatgerm เต็มไปด้วยสังกะสี, ซีลีเนียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีนวิตามินบี 6 และกรดโฟลิก ร่วมกันช่วยเพิ่มการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งอาจช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนและอาการ PMS 
  • เมล็ดฟักทอง วิตามินซี, อาร์จินีน, สังกะสี, แมกนีเซียม และวิตามินอี เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการสร้างโปรเจสเตอโรน เมล็ดฟักทองอุดมไปด้วยสารอาหารทั้งหมดที่กล่าวมาพร้อมกับไฟโตสเตอรอลที่ช่วยในการปรับสมดุลของระดับฮอร์โมนและป้องกันความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมอีกด้วย
  • ทานผลิตภัณฑ์จากนม ถึงแม้จะมีโปรเจสเตอโรนอยู่น้อย แต่จากงานวิจัยพบว่าหากรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูงวันละ 3 หน่วยบริโภค จะเพิ่มระดับโปรเจสเตอโรนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดูแลรักษาสุขภาพจิตใจ

ทำจิตใจให้แจ่มใสเพื่อลดความเครียด เพราะความเครียดถูกจัดเป็นสิ่งที่ซับซ้อน พอ ๆ กับการรักษาสมดุลของฮอร์โมนให้มีสุขภาพที่ดี ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพทางจิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน วิธีการช่วยให้คลายเครียดมีดังนี้

  • การผ่อนคลายด้วยการยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการตึง
  • หากิจกรรมทำในสิ่งที่ชอบหรือสนใจ
  • ดูแลร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ
  • นั่งสมาธิ หลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล 

การใช้ยา

การใช้ยาเพื่อช่วยเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะใช้เพื่อรักษาภาวะขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ควบคุมภาวะไข่ตกและการมีรอบเดือน ต้องได้รับจากการที่แพทย์จ่ายให้เท่านั้น ชนิดของยาเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะมี ยาแบบรับประทาน ยาฉีด ยาเหน็บช่องคลอด มีวิธีการใช้ดังนี้

  • ยารับประทาน
  • จะใช้ร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาภาวะหมดประจำเดือน รับประทานยาวันละ 200 มิลลิกรัม 1 ครั้งก่อนนอน ติดต่อกัน 12-14 วันต่อเดือน
  • รักษาภาวะขาดประจำเดือนและภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ รับประทานยาวันละ 400 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 10 วัน
  • ยาฉีดจะเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
    • รักษาภาวะขาดประจำเดือนและภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ให้ยาวันละ 5-10 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 5-10 วัน จนกว่าจะถึง 2 วันก่อนมีประจำเดือน
    • รักษาภาวะการขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ให้ยาครั้งละ 25-100 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 15 ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงสัปดาห์ที่ 8-16 อาจเพิ่มปริมาณยาได้ทุกวัน หากจำเป็น
  • ยาเหน็บช่องคลอด
    • รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ใช้ยา 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง อาจเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยเริ่มใช้ในวันที่ 12-14 ของรอบเดือนต่อเนื่องไปจนเริ่มมีประจำเดือน ในบางกรณีอาจใช้ยาเหน็บทางทวารหนักด้วย
    • รักษาภาวะขาดประจำเดือนและภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ใช้ยาวันละ 45 มิลลิกรัม วันเว้นวัน ตั้งแต่วันที่ 15 ถึงวันที่ 25 ของรอบเดือน อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 90 มิลลิกรัม หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา

**ทั้งหมดนี้ควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำบนเอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรซื้อมารับประทานหรือใช้เองโดยไม่มีการปรึกษาแพทย์

สรุป

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง กลไกและหน้าที่ในการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายมีรายละเอียดและทำงานร่วมกันหลายส่วน ดังนั้น การดูแลสุขภาพกายรวมถึงสภาพจิตใจ นอนหลับพักผ่อน กินอาหารครบ 5 หมู่ ไม่เครียด ก็จะช่วยให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมดุล โอกาสตั้งครรภ์ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 

ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงท่านใดมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามเรื่องการมีบุตร สามารถแอดไลน์ @beyondivf สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมในการมีบุตร

Cable, J. K., & Grider, M. H. (2023b, May 1). Physiology, progesterone. StatPearls – NCBI Bookshelf. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK558960/

Professional, C. C. M. (n.d.-c). Progesterone. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/body/24562-progesterone

PROGESTERONE: Overview, uses, side effects, precautions, interactions, dosing and reviews. (n.d.). https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-760/progesterone