แน่นอนว่าถ้าอยากมีลูก การมีเพศสัมพันธ์ในวันที่ไข่ตกจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์สูง ซึ่งในช่วงที่ไข่ตก ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ‘ฮอร์โมนเอสโตรเจน’ ที่มีผลต่อการกระตุ้นไข่ตกและการหนาตัวของผนังมดลูกเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนสำหรับตั้งครรภ์ จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากระดับฮอร์โมนไม่สมดุล จะส่งผลต่อร่างกายโดยรวมและโอกาสการตั้งครรภ์
ตอบคำถาม: ฮอร์โมนเอสโตรเจน คืออะไร?
- เอสโตรเจน (Estrogen) คือฮอร์โมนเพศหญิงชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการแสดงลักษณะความเป็นหญิงของร่างกาย เช่น ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล
- เอสโตรเจน มีผลอย่างมากต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ไม่ว่าจะการควบคุมการตกไข่ การมีประจำเดือน และการปรับสภาพร่างกายให้เหมาะสมแก่การตั้งครรภ์
- เมื่ออายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะลดลง ส่งผลให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือ ‘วัยทอง’ ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกายหลายส่วน อาทิ กระดูกพรุน ผิวพรรณดูโทรม อารมณ์แปรปรวน
- หากร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายเช่นกัน ไม่ว่าจะมีไขมันสะสมง่าย อารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ไข่ไม่โต ใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ด้วย
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำหน้าที่อะไร
- ความสำคัญของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน กับ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
- การวัดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไป ส่งผลเสียอย่างไร
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ อาจทำให้มีลูกยาก
- วิธีบำรุงเสริมระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ข้อสรุป
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างขึ้นจากรังไข่ และบางส่วนผลิตจากต่อมหมวกไต มีหน้าที่ควบคุมการแสดงออกถึงลักษณะของเพศหญิง โดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง กระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ การมีประจำเดือน รวมถึงการตั้งครรภ์ ซึ่งในแต่ละช่วงเดือนระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการตกไข่ และเมื่อมีประจำเดือน
ฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำหน้าที่อะไร
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนหลักของผู้หญิง ซึ่งรับผิดชอบในการควบคุมการมีประจำเดือนและการหมดประจำเดือน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนรับผิดชอบต่อความหนาของผิว ให้ผิวอิ่มน้ำ เปล่งปลั่ง สุขภาพดี
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลที่ “ไม่ดี” (LDL) และเพิ่มระดับของคอเลสเตรอลที่ “ดี” (HDL)
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยยับยั้งการสลายตัวของกระดูก ป้องกันภาวะกระดูกพรุน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยผลิตเมือกใสในช่วงไข่ตก เพื่อเป็นตัวช่วยให้อสุจิเคลื่อนที่เข้าสู่มดลูกและท่อนำไข่ได้ง่ายขึ้น
- ช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ความสำคัญของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- ทำให้ผู้หญิงมีผิวพรรณเนียนนุ่ม สะโพกผาย เต้านมขยายขนาด เสียงแหลม
- กระตุ้นการทำงานของมดลูก รังไข่ เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตกและมีประจำเดือน
- ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนานุ่มพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน เพื่อจะเติบโตเป็นทารกในครรภ์ต่อไป
- ควบคุมการทำงานของมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ขยายขนาดและมีเลือดมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ
- ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อต่าง ๆ ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะข้อต่อในอุ้งเชิงกราน เพื่อการขยายตัวระหว่างคลอด
- ทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารช้าลง ส่งผลให้ท้องอืดในง่ายขณะตั้งครรภ์
- ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก จึงช่วยลดภาวะกระดูกพรุน
ฮอร์โมนเอสโตรเจน กับ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
ฮอร์โมนเอสโตรเจน
เป็นฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งทำหน้าที่พัฒนาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่ แต่เมื่อตั้งครรภ์ฮอร์โมนนี้จะถูกผลิตออกมาจากรกอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่ให้เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ และช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่และรกในระหว่างตั้งครรภ์ มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อให้ไข่ที่ถูกผสมจนเกิดการปฏิสนธิฝังตัวและเติบโตเป็นทารกได้
การวัดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
สำหรับค่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มบุคคล โดยมีหน่วยเป็น pg/ml
- ผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน ค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนจะอยู่ที่ 26 – 149 pg/ml
- ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน ค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนจะอยู่ที่ 0 – 34 pg/ml
- ผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์ ค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนจะอยู่ที่ 2 – 30 pg/ml
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนจะอยู่ที่ 3 – 10 pg/ml
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไป ส่งผลเสียอย่างไร
อย่างที่รู้ๆกันว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนถือว่าเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญกับผู้หญิงมาก แต่ถ้ามีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเกินไปก็อาจจะส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันได้ง่ายและมากขึ้นทำให้เกิดเป็นโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ยังทำให้มีอารมณ์แปรปรวน และยังเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงโรคไขมันในหลอดเลือด เมื่อไขมันเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ก็อาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตอีกด้วย
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล เกิดจากสาเหตุใด
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุลอาจเกิดจากหลายๆสาเหตุ เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ความเครียดเรื้อรัง อาหารการกิน สารเคมีที่ได้รับ การทานยาคุมกำเนิด หรือยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ ทำให้เกิดความผิดปกติ ดังนี้
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- มีอาการก่อนมีประจำเดือนที่ผิดปกติ เช่น ตัวบวม หิวของหวาน กินเยอะ น้ำหนักขึ้นไว ไขมันเพิ่มง่าย ปวดหัวไมเกรน ตึงคัดเต้านม จะเรียกว่า อาการ PMS (Premenstrual Syndrome)
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดบ่อย นอนหลับยากขึ้น
- อาจทำให้เกิดเนื้องอก ถุงน้ำที่เต้านม มดลูก หรือ รังไข่
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ อาจทำให้มีลูกยาก
อาการที่ส่งสัญญาณเตือนฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำกว่าปกติ
- นอนไม่หลับ เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ จะทำให้มีเซโรโทนินต่ำ อาจตามมาด้วยปัญหาในการนอนหลับ
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน เนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอจึงส่งผลให้ขาดสมาธิ หลงลืม ไม่สามารถโฟกัสอยู่กับเรื่องที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- อารมณ์แปรปรวน เป็นหนึ่งในอาการของฮอร์โมนที่ไม่สมดุล อาการนี้อาจจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อรวมกับการนอนหลับไม่เพียงพอ
- อาการซึมเศร้า ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความเชื่อมโยงกับเซโรโทนิน ที่ช่วยลดภาวะซึมเศร้า เมื่อมีเอสโตรเจนต่ำ นั่นคือระดับเซโรโทนินก็จะต่ำไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
- กระดูกเปราะ เอสโตรเจนช่วยเสริมความหนาแน่นของกระดูก เมื่อระดับเอสโตรเจนที่ต่ำ ความหนาแน่นของกระดูกก็จะลดลง
- ขณะมีเพศสัมพันธ์จะรู้สึกเจ็บ ช่วงที่เอสโตรเจนลดต่ำลง ช่องคลอดจะแห้งมากขึ้น ผนังช่องคลอดบางลง จึงทำให้รู้สึกเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
- ช่องคลอดฝ่อตัว เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ จะทำให้ช่องคลอดแคบลง และสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้หลั่งสารหล่อลื่นได้ช้าลง
สำหรับผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำและเตรียมตั้งครรภ์ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก
อ่านเพิ่มเติม >> การรักษาภาวะมีบุตรยาก รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง รักษาที่ไหนดี เลือกอย่างไรดี
วิธีบำรุงเสริมระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
การทานอาหารที่มีส่วนช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ถั่วเหลือง หรืออาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ เช่น เต้าหู้ หรือน้ำเต้าหู้ เพราะเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูงสะสมอยู่ มีฮอร์โมนไฟโตเอสโตรเจนทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน การรับประทานอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ นอกจากสารอาหารที่มีอยู่ในถั่วเหลืองจะช่วยปรับฮอร์โมนของผู้หญิงที่ขาดไป ยังช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ และยังมีสารอาหารที่จำเป็นอีกมากมายด้วย เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โปแตสเซียม วิตามินบีคอมเพล็กซ์ สังกะสี
- ผลไม้สด เป็นอาหารที่มีไบโอฟลาโวนอยด์ ช่วยเสริมสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งผลไม้สดที่มีสารไบโอฟลาโวนอยด์อยู่มาก เช่น มะขาม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะนาว เป็นต้น หรืออาจเลือกทานเป็นผลไม้จำพวกสตรอเบอรี่ อะโวคาโด กล้วย ฝรั่ง ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระตัวนี้จะคอยช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย ลดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน และยังสามารถควบคุมระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกด้วย นอกจากจะมีสารไบโอฟลาโวนอยด์แล้วยังมีวิตามินอีที่ช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส ไม่แก่ก่อนวัยอันควรอีกด้วย
- เมล็ดแฟลกซ์ การรับประทานเมล็ดแฟลกซ์มีส่วนช่วยในการต่อต้านผลกระทบของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีมากเกินไป ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งท่อปัสสาวะ และมะเร็งรังไข่อีกด้วย
- วิตามินบี เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างและกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย หากร่างกายมีวิตามินบีในระดับที่ต่ำอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงด้วย
- วิตามินดี วิตามินดีและเอสโตรเจนทำงานร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเชื่อมโยงระหว่างฮอร์โมนสองตัวนี้ เกิดจากบทบาทของวิตามินดีในการสังเคราะห์เอสโตรเจน ซึ่งบ่งบอกได้ถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริมวิตามินดีในระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำ
- น้ำมะพร้าว ในน้ำมะพร้าวจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างคอลลาเจน และอีลาสติน ช่วยกระชับผิวพรรณให้เต่งตึง ชะลอการเกิดริ้วรอยได้ นอกจากนี้ก็มีส่วนช่วยในการขับสารพิษออกจากร่างกาย ด้วยกระบวนการที่คล้ายกับการดีท็อกซ์อีกด้วย
การใช้ฮอร์โมนเสริมทดแทน
การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อมารับประทานเองต้องได้มาจากการที่แพทย์จ่ายให้เท่านั้น วิธีการใช้ฮอร์โมนทดแทนมี 2 วิธี ดังนี้
- ยาชนิดทาน
– รักษาภาวะฮอร์โมนเพศหญิงต่ำ รับประทาน 0.3-0.625 มิลลิกรัม/วัน ในทุกรอบเดือน อาจปรับปริมาณยาได้ในช่วง 6-12 เดือน ใช้ร่วมกับฮอร์โมนโพรเกสตินเพื่อคงระดับความหนาแน่นของมวลกระดูกเมื่อโครงสร้างของกระดูกสมบูรณ์
– รักษาภาวะช่องคลอดฝ่อ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ช่องคลอดหรือปากช่องคลอดแห้ง แสบ มีอาการคัน รับประทานยา 0.3 มิลลิกรัม/วัน
– ป้องกันโรคกระดูกพรุนให้ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เริ่มแรกให้รับประทานยาในปริมาณ 0.3 มิลลิกรัม/วัน ทุกวันหรือทุกรอบเดือน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ส่วนการปรับปริมาณยานั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของมวลกระดูกและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
– รักษาภาวะรังไข่หยุดทำงาน รับประทานยา 1.25 มิลลิกรัม/วัน ในทุกรอบเดือน ปรับปริมาณยาตามการตอบสนองของผู้ป่วย และคงการใช้ยาในปริมาณต่ำสุดที่เห็นผลการรักษา
- ยาชนิดฉีด
– รักษาภาวะมีเลือดออกในมดลูกผิดปกติ จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อในปริมาณ 25 มิลลิกรัม สามารถให้ซ้ำได้ใน 6-12 ชั่วโมง หากจำเป็น หลังการรักษาควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำร่วมด้วย
ข้อสรุป
ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ หน้าที่ในการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายมีรายละเอียด ดังนั้นการดูแลสุขภาพกาย ก็จะช่วยให้สร้างฮอร์โมนและทำงานได้อย่างสมดุล โอกาสในการตั้งครรภ์ก็เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงท่านใดมีข้อสงสัยหรืออยากสอบถามเรื่องการมีบุตร สามารถแอดไลน์ @beyondivf สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมในการมีบุตร
Delgado, B. J., & Lopez-Ojeda, W. (2023, June 26). Estrogen. StatPearls – NCBI Bookshelf. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538260/
Nichols, H. (2023, November 20). Everything you need to know about estrogen. https://www.medicalnewstoday.com/articles/277177
Professional, C. C. M. (n.d.). Estrogen. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/body/22353-estrogen
Estrogen’s effects on the female body. (2022, November 1). Johns Hopkins Medicine. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/estrogens-effects-on-the-female-body