Luteinizing Hormone

ฮอร์โมน LH เป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้หญิงที่อยากมีลูก แน่นอนว่าต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับประจำเดือน และการตั้งครรภ์ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบอย่างละเอียดว่าแท้จริงแล้วฮอร์โมนนี้มีหน้าที่อย่างไร สำคัญแค่ไหน แล้วหากพบปัญหาฮอร์โมนต่ำหรือสูงเกินไป ต้องทำอย่างไร

Table of Contents

ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone)

ฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone: LH) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ฮอร์โมนดังกล่าวอยู่ในกลุ่มของฮอร์โมนที่เรียกว่าโกนาโดโทรฟิน (Gonadotropin) โดยฮอร์โมนลูทิไนซิงจะทำหน้าที่กระตุ้นอัณฑะในเพศชายและรังไข่ในเพศหญิง 

หากไม่มีฮอร์โมนดังกล่าวจะไม่สามารถสืบพันธ์ุได้ ฮอร์โมนลูทิไนซิงในเพศหญิงจะหลั่งออกมาในช่วงที่จะมีการตกไข่ ซึ่งจะมีผลทำให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ ส่วนในเพศชาย ฮอร์โมนลูทิไนซิงจะกระตุ้นให้อัณฑะสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone)

อยากมีลูก ไม่ท้องสักที รีบปรึกษาแพทย์ ก่อนถึงวัยมีลูกยาก ปนึกษาแพทย์ฟรี คลิก

ฮอร์โมน LH : Luteinizing Hormone ทำหน้าที่อะไรบ้าง

ฮอร์โมน LH ในผู้หญิง

ในผู้หญิงฮอร์โมน LH จะช่วยควบคุมรอบเดือน นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นไข่จากรังไข่ เรียกว่า การตกไข่ ระดับฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนถึงวันที่ไข่ตก

ฮอร์โมน LH ในผู้ชาย

ในผู้ชายฮอร์โมน LH จะช่วยให้ลูกอัณฑะสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการผลิตสเปิร์ม โดยปกติระดับฮอร์โมน LH ในผู้ชายจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

ฮอร์โมน LH ในเด็ก

ระดับฮอร์โมน LH มักจะต่ำในวัยเด็ก และจะเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปี ก่อนเข้าวัยเจริญพันธุ์ ในเด็กผู้หญิงฮอร์โมน LH จะช่วยส่งสัญญาณให้รังไข่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนในเด็กผู้ชาย จะช่วยส่งสัญญาณให้อัณฑะสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

ไลน์ ปรึกษาแพทย์ฟรี คลิก

คลิก คุยกับแพทย์เฉพาะทาง

ฮอร์โมน LH สำคัญอย่างไรกับคนท้อง

คุณแม่ตั้งครรภ์

ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) เป็นฮอร์โมนที่ปล่อยไข่ให้พร้อมสำหรับการปฏิสนธิ โดยปกติร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณที่น้อย จนถึงระยะก่อนเวลาไข่ตก ฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเกิดการตกไข่ภายใน 12-36 ชม. ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ภายใน 48 ชม. หลังจากตรวจพบว่าระดับฮอร์โมน LH เพิ่มขึ้น จะช่วยให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น

การตรวจค่าฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone)

การทดสอบ LH ทำงานอย่างใกล้ชิดกับฮอร์โมนอื่นที่เรียกว่า FSH เพื่อควบคุมการทำงานของฮอร์โมนทางเพศ ดังนั้นการทดสอบฮอร์โมน FSH มักจะทำควบคู่ไปกับการทดสอบฮอร์โมน LH การทดสอบเหล่านี้ใช้ในรูปแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะทดสอบกับ ผู้หญิง ผู้ชาย หรือเด็ก

ในผู้หญิง การทดสอบเหล่านี้มักใช้เพื่อ

  • ช่วยหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
  • เพื่อดูการตกไข่ว่าช่วงไหนคือช่วงเวลาที่คุณมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์มากที่สุด
  • หาสาเหตุประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด
  • ยืนยันการเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือน ซึ่งพอหมดประจำเดือนเท่ากับว่ารังไข่จะหยุดผลิตเซลล์ไข่และไม่สามารถมีลูกได้ มักจะเริ่มต้นตั้งแต่อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป

ในผู้ชาย การทดสอบเหล่านี้มักใช้เพื่อ

  • ช่วยหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
  • หาสาเหตุของจำนวนอสุจิน้อย
  • หาสาเหตุของความสนใจทางเพศต่ำ

ในเด็ก การทดสอบเหล่านี้มักใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยวัยเจริญพันธุ์หรือเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ล่าช้า

  • วัยเจริญพันธุ์ถ้าเริ่มก่อนอายุ 9 ในเด็กผู้หญิงและก่อนอายุ 10 ในเด็กผู้ชาย ถือว่าเร็ว
  • วัยเจริญพันธุ์ หากยังไม่เริ่มตั้งแต่อายุ 13 ปีในเด็กผู้หญิง และเมื่ออายุ 14 ปีในเด็กผู้ชาย จะถือว่าล่าช้า

ใครที่ควรเข้ารับการตรวจฮอร์โมน LH

การตรวจเลือดเพื่อดูระดับของฮอร์โมน LH จะเกี่ยวข้องกับปัญหาประจำเดือน ภาวะเจริญพันธุ์ และการเริ่มต้นของวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งบุคคลที่ควรตรวจฮอร์โมน LH มีดังนี้

  • ผู้หญิงที่กำลังมีปัญหาในการตั้งครรภ์
  • ผู้หญิงมีประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาด
  • สงสัยว่าผู้หญิงกำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • ผู้ชายที่มีสัญญาณของระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ
  • เป็นโรคที่เกี่ยวกับต่อมใต้สมอง
  • เด็กชายหรือเด็กหญิงดูเหมือนจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป

ขั้นตอนการตรวจฮอร์โมน LH

  1. พยาบาลจะซักประวัติของคุณแม่เบื่องต้นก่อน
  2. พยาบาลจะพาไปชั่งน้ำหนัก วัดความดัน เสร็จแล้วพยาบาลจะพาไปพบแพทย์
  3. พบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ เช่น โรคประจำตัว ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เคยมีประวัติความผิดปกติของโครโมโซมไหม ประวัติโรคประจำตัวของคนในครอบครัว
  4. เจาะเลือด และนำไปตรวจ LH เพื่อหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น
  5. รอผลตรวจ ประมาณ 1 ชั่วโมง

ผลตรวจฮอร์โมน LH

ค่าระดับฮอร์โมน LH ปกติโดยใช้หน่วยวัดมาตรฐานสากล (IU/L) มีดังนี้

  • ผู้หญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือน : 5-25 IU/L
  • ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน : 15.9-54.0 IU/L
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ น้อยกว่า : 1.5 IU/L
  • ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิด : 0.7-5.6 IU/L
  • ผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 20-70 ปี : 0.7-7.9 IU/L
  • ผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี : 3.1-34.0 IU/L
ระดับค่าปกติฮอร์โมน LH

ค่าฮอร์โมน LH สูง – ต่ำกว่าปกติ จะส่งผลอย่างไร

ค่าฮอร์โมนในผู้หญิง 

หากคุณผู้หญิงมีระดับฮอร์โมน LH ในเลือดสูง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหา รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยขั้นต้น แพทย์มักไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุใดรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยจึงเกิดขึ้น แต่สาเหตุร่วมที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ คือ

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น Turner syndrome 
  • ประวัติการใช้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • เนื้องอกรังไข่
  • โรคไทรอยด์
  • กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ PCOS
  • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสูบบุหรี่ จะมีผลทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง และยังเป็นพิษต่อเซลล์ต้นกำเนิดของรังไข่ด้วย ยาฆ่าแมลง, สารละลาย และโลหะหนักบางชนิด ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะนี้ได้

หากระดับฮอร์โมน LH ต่ำ สามารถบ่งบอกว่ามีส่วนอื่นของร่างกายทำให้เกิดภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยขั้นรอง เป็นผลมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับการสร้างฮอร์โมนในสมอง เช่น ต่อมใต้สมอง

ค่าฮอร์โมนในผู้ชาย

หากคุณผู้ชายมีระดับฮอร์โมน LH ในเลือดสูงเป็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกอัณฑะ เรียกว่า ภาวะพร่องฮอร์โมนปฐมภูมิ (primary testicular failure) คือ ฮอร์โมนเพศชายต่ำ มีความผิดปกติในการสร้างน้ำอสุจิ และระดับฮอร์โมน gonadotropin สูง ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดจาก

  • เป็นโรคอ้วน
  • มีโรคที่ส่งผลต่อลูกอัณฑะ เช่น คางทูม มะเร็งอัณฑะ
  • มีโรคทางพันธุกรรมหรือโรคอื่น เช่นโรค ซิสติกไฟโบรซิส
  • ทานยาบางชนิด เช่น การใช้เคมีบำบัด
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • เนื้องอก เช่น เนื้องอกเซลล์สืบพันธุ์

หากระดับฮอร์โมน LH ต่ำ หมายถึงมีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง ซึ่งอาจส่งผลให้

  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือขาดความสนใจทางเพศ
  • ความเหนื่อยล้า

 ค่าฮอร์โมนในเด็ก  

หากบุตรของท่านมีระดับฮอร์โมน LH สูง อาจหมายความว่าพวกเขากำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 8 ขวบ หรือเด็กผู้ชายอายุน้อยกว่า 9 ขวบ นั่นอาจเป็นสัญญาณบอกบางอย่างเช่น

  • อาการบาดเจ็บที่สมอง
  • ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง
  • การอักเสบหรือการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไข้สมองอักเสบ
  • ประวัติการผ่าตัดสมอง
  • ประวัติการฉายรังสีไปยังสมอง

หากบุตรของท่านมีระดับฮอร์โมน LH ต่ำ หมายความว่าพวกเขาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้า ซึ่งการที่พวกเขาเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้า อาจเกิดจาก

  • ความผิดปกติของการกิน
  • ความผิดปกติของรังไข่หรืออัณฑะ
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคเทิร์นเนอร์ในเด็กผู้หญิง หรือกลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ในเด็กผู้ชาย
  • ภาวะขาดฮอร์โมน
  • การติดเชื้อ

คำแนะนำในการดูแลระดับฮอร์โมน LH

การดูแลและปรับความสมดุลของฮอร์โมน LH จะต้องดูแลควบคู่ไปกับฮอร์โมนตัวอื่นๆ เช่น หากระดับ insulin สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมน LH สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเราควรดูแลความสมดุลของฮอร์โมนไปพร้อมๆกัน ซึ่งการดูแลความสมดุลของฮอร์โมน LH มีดังนี้

  • การออกกำลังอย่าสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มี Inositol การทาน Inositol จะช่วยลดระดับฮอร์โมน LH ให้ต่ำลง
  • รับประทานอาหารที่มี Omega 3 ไขมันโอเมก้า 3 เป็นองค์ประกอบสำคัญในอาหารทุกประเภท และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่เป็น PCOS และยังช่วยลดระดับฮอร์โมน LH อีกด้วย

การปรับสมดุลฮอร์โมน LH สำหรับผู้ที่เตรียมตั้งครรภ์

แพทย์จะทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมน LH เบื้องต้น เพื่อดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับการมีบุตรยาก แพทย์จะทำการตรวจด้วยการ

  • ผู้ชาย จะตรวจวิเคราะห์จากน้ำอสุจิ ทดสอบพันธุกรรม ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนตัวอื่นๆร่วมด้วย
  • ผู้หญิง ตรวจวัดระดับฮอร์โมนจากการเจาะเลือด และการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของมดลูก

การรักษาสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายต้องทำควบคู้ไปกับการเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยหากต้องการที่จะเตรียมตัวในการมีลูกควรปฏิบัติดังนี้

  • งดทานของหวาน ร่างกายเราไม่จำเป็นต้องได้รับน้ำตาลเพิ่มเลยในแต่ละวัน การที่เรากินแป้ง กินข้าว หรือผลไม้เราก็ได้รับน้ำตาลอยู่แล้วเพราะร่างกายจะเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นกลูโคสแล้วดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่ง “น้ำตาลคือภัยร้ายที่สุด” มันคืออนุมูลอิสระที่จะไปทำลายเซลล์ ทำให้แก่ ทำให้เซลล์ไข่เสื่อม และด้อยคุณภาพ การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะ “กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน” ซึ่งเป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS หากเกิดภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งจะส่งผลให้ไข่ไม่ตกเรื้อรัง ไข่ใบเล็ก
  • งดดื่มชา กาแฟ การดื่มคาเฟอีนส่งผลต่อการมีบุตรยากเพิ่มขึ้น
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังมีผลเสียต่อพัฒนาการของลูก และยังเสี่ยงต่อระบบหัวใจของลูกทำให้มีปัญหามากขึ้น ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะผักและผลไม้ เช่น ผักใบเขียว ถั่ว ข้าวโพด ส้ม และกล้วย มีกรดโฟลิกสูง ซึ่งกรดโฟลิกช่วยป้องกันทารกจากโรคกระดูกไขสันหลังผิดปกติ ทานข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน เพื่อให้ได้แป้งเพียงพอ รวมถึงทานโปรตีนทุกมื้อ ส่วนธาตุเหล็กก็อย่าให้ขาด เพราะเป็นธาตุสำคัญซึ่งส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาการทางสมองของลูก

คำถามที่พบบ่อย

การตรวจค่าฮอร์โมน LH เจ็บไหม มีผลข้างเคียงหรือไม่

การตรวจฮอร์โมน LH จะเป็นการตรวจด้วยวิธีการเจาะเลือด ไม่เจ็บและไม่มีผลข้างเคียงหรือมีผลข้างเคียงน้อยจนถึงน้อยมาก 

ก่อนตรวจค่าฮอร์โมน LH ต้องเตรียมตัวอย่างไร

เนื่องจากการตรวจฮอร์โมน LH เป็นการเจาะเลือดเพื่อไปตรวจและไม่ได้ใช้เลือดจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก อาจจะแค่พักผ่อนให้เพียงพอ แล้วก็สามารถมาตรวจได้เลย

ข้อสรุป

ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) คือ ฮอร์โมนที่สำคัญสำหรับผู้หญิงเพราะจะเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการตกไข่ หากท่านใดอยากทราบว่าไข่จะตกในช่วงไหน สามารถซื้อที่ตรวจวัดระดับฮอร์โมน LH เพื่อดูระดับฮอร์โมนหากเพิ่มขึ้นแสดงว่าช่วงนั่นจะเป็นช่วงที่ไข่ตก และหากท่านใดอยากมีลูกให้รีบมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้นเพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูกได้ 

ถ้าท่านใดลองมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติมามากกว่า 1 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ แสดงว่าท่านเข้าข่ายเป็นผู้มีบุตรยาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ช่วยหาแนวทางในการรักษา ทั้งนี้หากคุณผู้หญิงท่านใดมีข้อสงสัยหรือต้องการตรวจภาวะผู้มีบุตรยากฟรี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf