ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ คือปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้มีหลายสาเหตุหลายปัจจัย วันนี้ทางเราจะมาพูดถึงสาเหตุของภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติเกิดจากอะไร มีอาการบ่งบอกไหม มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ มีวิธีรักษาและวิธีป้องกันอย่างไร
ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ (Irregular Periods) มีหลายอาการที่สามารถบ่งบอกได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ ประจำเดือนมาเร็วผิดปกติ และประจำเดือนมาถี่ผิดปกติ ซึ่งอาการประจำเดือนมาไม่ปกติมักจะเกิดจากสาเหตุมากมาย เช่น ความผิดปกติของระดับฮอร์โมน เกิดปัญหาการตกไข่จากความเครียด การใช้ยาบางประเภท หรือเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นต้น
ลักษณะของรอบเดือนปกติ
โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละรอบประจำเดือนจะห่างกัน 28 วัน แต่สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 21 ถึง 35 วัน โดยในแต่ละคนควรมีประจำเดือนที่สม่ำเสมอในทุกๆ เดือน อย่างไรก็ตามในช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มมีประจำเดือนหรือในวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจจะมาไม่สม่ำเสมอได้
สาเหตุอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
สาเหตุอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ มีดังนี้
1. พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- ออกกำลังกายหนัก ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายหนักหรือต้องใช้แรงมากเกินไปก็ส่งผลต่อความผิดปกติของประจำเดือนได้
- ความเครียด ความวิตกกังวล อาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนอาจขาดหายไปได้ทีหลายๆ เดือน เนื่องจากความเครียดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือนนั่นเอง
- พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ (Eating Disorder) การล้วงคออาเจียนหลังทานอาหารทำให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้ไม่ปกติ
2. การเข้าสู่ระยะก่อนหมดประจำเดือน
วัยหมดประจำเดือนถือเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี ประจำเดือนจะเริ่มขาดเมื่อเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดลง ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ เมื่อเลยวัยทองแล้ว รอบเดือนจะหยุดมา
3. ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล
ความสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในผู้หญิงนั้นจะส่งผลโดยตรงต่อการมีประจำเดือน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลก็คือการมีน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไป จึงส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน 2 ตัวนี้
4. ภาวะไข่ไม่ตก
ภาวะไข่ไม่ตกนอกจากจะมีสาเหตุมาจากความเครียดแล้ว ยังอาจมีสาเหตุมาจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังอีกด้วย ซึ่งในภาวะนี้เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียกลไกควบคุมการเจริญเติบโตของไข่ จึงทำให้ขั้นตอนการโตของไข่หยุดชะงัก และเมื่อไข่ไม่ตกก็ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
5. การใช้ยาบางประเภท
การรับประทานยาบางตัว เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาต้านอาการทางจิต ยารักษาโรคไทรอยด์ ยากันชัก หรือการรักษาโดยใช้เคมีบำบัด ยารักษาความดันโลหิตสูง ก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติได้
6. ผลข้างเคียงจากโรค
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS คือภาวะที่มีถุงน้ำขนาดเล็กหลายใบมีการเติบโตในบริเวณรังไข่ โดยในภาวะนี้จะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone) นั้นสูงขึ้น จึงส่งผลให้การตกไข่ชะลอตัวลง
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นภาวะที่เซลล์ที่ควรจะเติบโตภายในมดลูก กลับออกมาเจริญเติบโตภายนอกแทน ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาที่มากขึ้น และส่งผลให้ประจำเดือนมีมากกว่าปกติ
- โรคทางต่อมไทรอยด์ (Thyroid Disease) นอกจากต่อมไทรอยด์จะมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญ และการทำงานพื้นฐานอื่น ๆ แล้ว ยังมีหน้าที่ควบคุมระยะเวลาการตกไข่เช่นกัน โดยผู้ที่มีโรคทางต่อมไทรอยด์จะมีการผลิตฮอร์โมนที่มากหรือน้อยเกินไป จึงส่งผลไปถึงการตกไข่อีกด้วย
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบติดเชื้อ (Pelvic Inflammatory Disease) เป็นภาวะที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นในบริเวณระบบสืบพันธุ์ส่วนบน เช่น มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ หรือเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน
ประจำเดือนมาไม่ปกติ แบบไหนที่ควรพบแพทย์
อาการประจำเดือนผิดปกติอื่นๆ
- ประจำเดือนมาเยอะมากกว่าปกติ ทั้งปริมาณและระยะเวลา
- ประจำเดือนมาน้อยมากกว่าปกติ
- มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือน
- อาการปวดประจำเดือนมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ประจำเดือนมานานเกินกว่า 7 วัน
การวินิจฉัยประจำเดือนมาผิดปกติ
เมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยอาการประจำเดือนขาดเบื้องต้น ดังนี้
- แพทย์จะซักประวัติเบื้องต้น โดยเฉพาะประวัติทางสูตินรีเวช ได้แก่ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตรวจภายในและตัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงประวัติประจำเดือนย้อนหลัง
- ตรวจเลือด แพทย์ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะดูฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin) ลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing Hormone) และฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone: FSH) หรือฮอร์โมนเอฟเอสเอช ซึ่งล้วนแต่เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือนผู้หญิง แพทย์จะวินิฉัยหาสาเหตุของอาการประจำเดือนไม่มาจากระดับฮอร์โมนเหล่านี้
- การอัลตราซาวด์ แพทย์จะตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่และมดลูก เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในอวัยวะดังกล่าว โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงประมวลภาพสแกนอวัยวะภายในร่างกายออกมา
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากประจำเดือนมาไม่ปกติ
- โรคโลหิตจาง
ผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ ทั้ังประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมาถี่เกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก หรือโรคโลหิตจางได้
- โรคกระดูกพรุน
สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ คือประจำเดือนมาถี่เกินไป อาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ เนื่องจากการตกไข่ในแต่ละครั้งจำเป็นที่จะต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งนอกจากฮอร์โมนชนิดนี้จะมีส่วนในการทำไข่ตกแล้ว ยังช่วยให้กระดูกแข็งแรงอีกด้วย จึงส่งผลโดยตรงต่อกระดูกเช่นกัน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่เนื่องจากการตกไข่ในแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เช่นกัน จึงอาจทำให้ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ไม่เพียงพอสำหรับลดความเสี่ยงในโรค
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ในผู้ที่มีปริมาณประจำเดือนที่มากผิดปกติ ก็อาจทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่สูงผิดปกติ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น ส่งผลให้กลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในที่สุด
วิธีรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
1. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
ควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักตัวที่น้อยไปก็จะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่มีความจำเป็นในกระบวนการตกไข่ ส่วนน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้
2. จัดการกับความเครียด
เครียดให้น้อย หัวเราะให้มาก เพราะทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนแปรปรวน
3. รับประทานยา
กินยาฮอร์โมนเสริม หากเกิดจากสาเหตุเช่น ผอมเกินไป อ้วนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดปกติหรือเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เบื้องต้นเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ คุณหมออาจจ่ายยาฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกับยาเลื่อนประจำเดือนที่เราคุ้นเคย
ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติกับปัญหาผู้มีบุตรยาก
การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ถือว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการตกไข่ หรือที่เรียกว่า ภาวะไข่ไม่ตก เมื่อไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น รังไข่จะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนได้ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ การหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจึงไม่เกิดเป็นรอบๆ เหมือนจากการมีประจำเดือนปกติ และเมื่อประจำเดือนขาดหรือมาไม่ปกติก็เท่ากับว่าภาวะการตกไข่ก็ไม่ปกติ เพราะฉะนั่นเมื่อไม่มีการตกไข่เกิดขึ้นก็ทำให้ไม่สามารถมีลูกได้และเข้าข่ายเป็นผู้มีลูกยากในที่สุด
วิธีป้องกันอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เครียด โดยอาจหาเวลาว่างไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
- เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และเหมาะสม
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่อ้วนไม่ผอมจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหมมากจนเกินไป
คำถามที่พบบ่อย
ประจําเดือนไม่มา แต่มีตกขาว ปกติไหม?
อาจเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นเมื่อช่องคลอดหลั่งสารคัดหลั่งที่ทำหน้าที่ช่วยขจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ ภายในช่องคลอด ก่อนจะขับออกมาในรูปแบบของตกขาว หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ความเครียด หรือการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่ตกขาวมีกลิ่นและมีสีผิดปกติ พร้อมกับอาการคันช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อในช่องคลอด ที่ควรได้รับการตรวจและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว
ประจำเดือนมาเกิน 1 เดือน เกิดจากอะไร?
ประจำเดือนมามากเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ฮอร์โมนไม่สมดุล
- ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูก เช่น เนื้องอกในมดลูก มะเร็ง ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น
- เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ยารักษาโรคบางอย่างก่อให้เกิดอาการประจำเดือนมามาก ซึ่งประกอบด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาสำหรับใช้ทำเคมีบำบัดบางตัว ยาต้านอักเสบ หรือห่วงอนามัยสำหรับคุมกำเนิด
ประจําเดือนไม่มา กินยาสตรีได้ไหม?
ไม่ควรกินยาสตรี เพราะ ยาสตรีเป็นยาสมุนไพรที่มีอยู่ 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ช่วยขับลม กลุ่มที่ใส่แอลกอฮอล์ และกลุ่มที่มีฮอร์โมนซึ่งได้มาจากพืชสมุนไพร หากทานกลุ่มหลังนี้จะไปกระตุ้นให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้นและหลุดลอกเป็นประจำเดือนได้ แต่ก็อาจทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุลได้ด้วย ดังนั้นหากต้องการรักษาอาการประจำเดือนไม่มา ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
ข้อสรุป
ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ คือ ภาวะหนึ่งที่ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตามปกติ หากประจำเดือนขาดหายไป 3 เดือน จะเรียกว่า ภาวะขาดประจำเดือน แต่ถ้าประจำเดือนขาดไป 1-2 เดือนจะเรียกว่า ภาวะประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ซึ่งสาเหตุมักเกิดจาก การตั้งครรภ์ ความเครียดสะสม น้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไป การใช้ยาคุมกำเนิด ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การเข้าสู้วัยทอง โดยการที่ประจำเดือนขาดอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Failure) และเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เข้าสู่ภาวะผู้มีบุตรยาก
ทั้งนี้หากท่านไหนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line@ : @beyondivf