ซลล์ไข่เสื่อมก่อนวัยทำให้มีลูกยากจริงหรือไม่?
การตั้งครรภ์เริ่มต้นที่เซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ได้พบกับเชื้ออสุจิที่แข็งแรง ปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูก และเติบโตในครรภ์ต่อไป ในร่างกายเรามีเซลล์หลายล้านเซลล์ ไข่ก็คือเซลล์ และเป็นเซลล์สืบพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย แต่เซลล์ไข่อ่อนไหวต่ออนุมูลอิสระมากๆ เซลล์ไข่เสื่อมง่าย เสียหายง่าย ฝ่อง่ายจากการทำลายของอนุมูลอิสระที่เกิดจากกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นในร่างกายเราทุกวัน ดังนั้นเซลล์ไข่ที่ไม่มีคุณภาพจึงเป็นปัญหาหลักที่สำคัญที่สุดจากฝ่ายหญิงที่ทำให้มีบุตรยาก
อ่านเพิ่มเติม : ปัญหามีบุตรยาก
ผู้หญิงมีเซลล์ไข่กว่า 6-7 ล้านเซลล์ติดตัวมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ฟังดูเหมือนไข่มีจำนวนเยอะมาก แต่รู้หรือไม่ว่านับตั้งแต่วันที่เราคลอดออกมาเซลล์ไข่จะเหลือเพียง 1-2 ล้านเซลล์ และจากนั้นไข่ก็จะฝ่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากอายุที่มากขึ้น และจากการถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ จนเมื่อถึงวัยมีประจำเดือน ไข่จะเหลือแค่ประมาณ 7 แสนใบ แต่ทั้งนี้จะมีไข่ที่มีผลทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียงแค่ 400-500 ฟองเท่านั้น เพราะการตกไข่แต่ละครั้งจะมีไข่เพียงฟองเดียวที่สมบูรณ์ และกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ หรือเมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมมีลูกไข่ของผู้หญิงเราก็เหลือน้อยลงและเสื่อมคุณภาพลงเรื่อยๆ
ซึ่งอายุที่เพิ่มมากขึ้นก็อาจส่งผลโดยตรงต่อการมีบุตรยาก โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป แม้จำนวนไข่จะเหลือพอที่นำมาใช้ปฏิสนธิได้ แต่ภาวะการเจริญพันธุ์จะลดลง ความสมบูรณ์ของโครโมโซมที่อยู่ในเซลล์ไข่ก็เช่นกัน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก และการแท้งมากกว่าปกติ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นจะทำให้โครโมโซมของไข่มีความผิดปกติ แต่ในคู่ที่มีความต้องการอย่างจริงจังที่จะตั้งครรภ์แม้จะมีอายุมากแล้ว อาจจะต้องเป็นวิธีมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แบบวิธี ICSI เด็กหลอดแก้ว เป็นการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถ คัดเลือกเซลล์ไข่ และอสุจิตัวที่ดีที่สุด เพื่อนำมาปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนตัวที่ดีที่สุดได้ (โดยผ่านการตรวจ NGS โครโมโซมตัวอ่อน) แล้วย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกเกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
ขอบคุณรูปจาก MAVETA
สาเหตุหลักที่ทำให้เซลล์ไข่เสื่อม
- อายุของฝ่ายหญิงที่เพิ่มขึ้น นอกจากเซลล์ไข่จะลดจำนวนลงแล้ว ความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่ก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยผู้หญิงวัย 35 ขึ้นไปถือเป็นช่วงขาลงของวัยเจริญพันธุ์ ในทางการแพทย์ คุณภาพของเซลล์ไข่ (Egg Quality) เชื่อมโยงถึง “ความปกติทางโครโมโซมของไข่” โดยไข่ที่โครโมโซมปกติ เรียกว่า “euploid” ส่วนไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติเรียกว่า “aneuploid” ซึ่งไข่ที่มีโครโมโซมปกติ (Chromosomally normal egg) จะมีโครโมโซม 23 แท่ง เมื่อมีการปฏิสนธิจากอสุจิของฝ่ายชายที่มีโครโมโซมปกติอีก 23 แท่ง ตัวอ่อนที่สมบูรณ์ก็จะมีโครโมโซมรวม 46 แท่ง ความสัมพันธ์ของอายุกับคุณภาพของไข่ก็คือ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะมีไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติ (aneuploid) เพิ่มขึ้น ไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติ คือมีจำนวนโครโมโซมมาก หรือ น้อยกว่า 23 แท่ง
โดยสถิติความผิดปกติของโครโซมของเซลล์ไข่ในแต่ละช่วงอายุปรากฏตามข้อมูล ดังนี้
- อายุ 25 ปี โครโมโซมผิดปกติ 25%
- อายุ 35 ปี โครโมโซมผิดปกติ 50%
- อายุ 40 ปีขึ้นไป โครโมโซมผิดปกติ 85-90%
ซึ่งไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติอาจส่งผลให้
- อัตราการปฏิสนธิต่ำ (low fertilization rate)
- ตัวอ่อนไม่ฝังตัว (embryo fails to implant in the uterus)
- แท้งในระยะเริ่มแรก (early miscarriage)
- ทารกเป็นดาวน์ซินโดรม (Down syndrome)
- อนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระส่งผลต่อความเสื่อมของเซลล์ไข่และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้โครโมโซมเซลล์ไข่ผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วในร่างกายมีการสร้างอนุมูลอิสระออกมาตลอดเวลาจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร อนุมูลอิสระส่วนใหญ่มีอะตอมของออกซิเจนที่ไวต่อการทำปฏิกริยาออกซิเดชัน หรือเรียกว่า Reactive Oxygen Species (ROS) ซึ่งสร้างความเสียหายแก่เซลล์ หากร่างกายเรามีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่จะมาจัดการกับ ROS ไม่เพียงพอจะทำให้เซลล์ต่างๆถูกทำลายจนเสื่อมไปเรื่อยๆ รวมถึงเซลล์ไข่ของผู้หญิงด้วย
“สรุปได้ว่า สาเหตุหลักของการตั้งครรภ์ไม่ประสบความสำเร็จมาจากตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ (รองลงมาคือปัญหาเรื่องผนังมดลูก) ซึ่งตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์อาจมาจากโครโมโซมผิดปกติ สืบเนื่องมาจากเซลล์ไข่เสื่อมจากอนุมูลอิสระ หรือไข่ที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นนั่นเอง”
ขอบคุณแหล่งที่มา : POST TODAY (ลิ้งค์แนบ https://www.posttoday.com/life/healthy/650269 )