การเตรียมตัวหรือเตรียมสุขภาพให้พร้อมก่อนการตั้งครรภ์ก็สำคัญ เมื่อเรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงที่พร้อมแล้วก็จะส่งผลให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้ง่ายขึ้น หลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบว่าการวางแผนและเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ต้องทำอย่างไรบ้าง การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์มีดังนี้
เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง
- เตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย
การเตรีมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ทางด้านสุขภาพที่ดีร่างกายที่แข็งแรง ควรเริ่มต้นมาจากการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ อาจจะต้องดูว่าทางด้านผู้หญิงมีน้ำหนักที่เยอะเกินไปไหม ควรลดน้ำหนักหรือเปล่า วิธีการออกกำลังกายที่แนะนำ คือ วิ่ง ปั่นจักรยาน โยคะ และเอโรบิค เพราะจะช่วยฝึกท่าทางการหายใจ และฝึกสมาธิอีกด้วย
- เตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจ
แน่นอนว่าความเครียดจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างมาก สุขภาพจิตซึ่งเป็นเรื่องของความคิด ความรู้สึก และควบคุมการดำเนินชีวิตในแต่ละวันเป็นอีกสิ่งสำคัญ เมื่อเราเครียดฮอร์โมนก็จะทำงานผิดปกติ ทำให้ไข่ตกช้าหรือประจำเดือนเลื่อน
ดังนั้นควรทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด ไม่กังวล หากิจกรรมที่ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หากมีความรู้สึกเครียดอย่างต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์และรักษาให้หายก่อนที่จะตั้งครรภ์
- เตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน
ในการเตรียมตัวก่อนมีลูกนั้นเรื่องทางการเงินก็สำคัญ เพราะการมีลูกสักคนค่าใช้จ่ายอาจจะเพิ่มขึ้น 1-2 เท่า ค่าใช้จ่ายจะเริ่มมีตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ตลอดจนคลอดลูกและหลังจากนั้นค่าใช้จ่ายอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการมีลูกควรจะต้องพร้อมทางด้านการเงินด้วยพอสมควร
วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ แนะนำโดยคุณหมอ
1. ปรึกษาแพทย์ ตรวจสอบภาวะมีบุตรยาก พบแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร
ที่ BeyondIVF เรามีบริการ ปรึกษาผู้มีบุตรยากฟรี และมีบริการตรวจภาวะมีบุตรยากอย่างละเอียด ซึ่งปกติแล้วสิ่งที่ควรตรวจมีดังนี้
1.1 ตรวจเลือดดูโรคติดต่อที่สามารถส่งผลไปถึงลูก ตรวจดูความเข้มข้นของเม็ดเลือด ตรวจหาภูมิหัดเยอรมัน ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจเชื้อHIV โรคทางพันธุกรรมแฝง เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคธาลัสซีเมียแบ่งออกเป็นหลายชนิด ซึ่งบางชนิดจะรุงแรงถึงขั่นที่ลูกอาจจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ บางชนิดก็จะทำให้เลือดจางมากๆจนต้องเข้ามารับเลือดประจำ หรือบางชนิดอาจจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆมีแค่เลือดจางเล็กน้อย ความเสี่ยงของโรคธาลัสซีเมียถ้ามีลูกมีดังนี้
- พ่อและแม่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียทั้งคู่ ลูกจะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย 100%
- พ่อและแม่มียีนแฝงหรือเป็นพาหะทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะเป็นปกติ 25% โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ 50% และลูกป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย 25%
- พ่อและแม่มียีนแฝง หรือเป็นพาหะคนเดียว อีกคนปกติ โอกาสที่จะมีลูกเป็นปกติ 50% และลูกที่เป็นพาหะ 50%
- พ่อและแม่คนใดคนหนึ่งเป็นธาลัสซีเมีย และอีกคนปกติ โอกาสที่ลูกจะมียีนแฝง หรือเป็นพาหะ 100%
- พ่อและแม่คนใดคนหนึ่งเป็นธาลัสซีเมีย และอีกฝ่ายมียีนแฝง หรือเป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นธาลัสซีเมีย 50% และลูกจะเป็นพาหะ 50%
1.2. ดูความพร้อมการเจริญพันธุ์ จะเป็นการตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนถึงการทำงานของรังไข่และลูกอัณฑะ ตรวจความสมดุลของฮอร์โมน จะมีการตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดดังนี้
- AMH = เป็นการตรวจเพื่อทดสอบคุณภาพรังไข่ โดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับแอนตี้มูลเลอเรียนฮอร์โมน ซึ่งผลิตจากรังไข่ มีบทบาทสำคัญในการผลิตฮอร์โมน
- E2 = Estradiol เป็นฮอร์โมนพื้นฐานของเพศหญิง
- P4 = เป็นฮอร์โมนสำหรับการตั้งครรภ์ และคงการตั้งครรภ์ไว้ เนื่องจากทำให้มดลูกมีความพร้อม
- LH = คือฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นบริเวณอัณฑะในเพศชาย และ รังไข่ในเพศหญิง ซึ่งหากไม่มีฮอร์โมนดังกล่าว มนุษย์จะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้
- Prolactin (PRL) = เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง ซึ่งอยู่ใกล้กับส่วนล่างของสมอง ผู้ชาย จะช่วยเรื่องการผลิตอสุจิ ผู้หญิง จะช่วยควบคุมวงจรของประจำเดือน และทำให้หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น ในหญิงตั้งครรภ์ จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างและหลั่งต่อมน้ำนม หลังจากเด็กคลอดแล้ว
- FSH = มีหน้าที่กระตุ้นให้ไข่สุก (กระตุ้นเซลล์ไข่ที่มีอยู่ในไข่ให้เจริญขึ้นจากเซลล์เล็กๆ ให้ค่อยๆสุก เพื่อพร้อมในการผสมกับเชื้ออสุจิ)
1.3 ดูความพร้อมของการตั้งครรภ์ จะเป็นการอัลตร้าซาวด์ตรวจภายในเพื่อดูความปกติของมดลูกและรังไข่ ว่าในมดลูกมีเนื้อ มีช็อกโกแลตซีสต์ หรือความผิดปกติที่ส่งผลต่อการตั้งโดยตรงหรือไม่
2. ทานอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะผักและผลไม้ เช่น ผักใบเขียว ถั่ว ข้าวโพด ส้ม และกล้วย มีกรดโฟลิกสูง ซึ่งกรดโฟลิกช่วยป้องกันทารกจากโรคกระดูกไขสันหลังผิดปกติ ทานข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน เพื่อให้ได้แป้งเพียงพอ รวมถึงทานโปรตีนทุกมื้อ ส่วนธาตุเหล็กก็อย่าให้ขาด เพราะเป็นธาตุสำคัญซึ่งส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาการทางสมองของลูก
3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังมีผลเสียต่อพัฒนาการของลูก และยังเสี่ยงต่อระบบหัวใจของลูกทำให้มีปัญหามากขึ้น ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อการแท้งหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย
4. ออกกำลังกาย
สำหรับผู้หญิงที่วางแผนการมีลูกการออกกำลังกายก็สามารถช่วยให้ลดความเครียดได้ การออกกำลังกายยังเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย นอกจากจะให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงแล้วยังส่งผลไปถึงลูกในครรภ์ให้แข็งแรงอีกด้วย ทั้งนี้การออกกำลังกายก็ไม่ควรหนักจนเกินไป แนะนำเป็นเล่นโยคะ เอโรบิค จะดีที่สุด
5. พักผ่อนให้เพียงพอ
พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนพักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมง ทั้งนี้การพักผ่อนที่เพียงพอยังสามารถช่วยผ่อนคลายจากความเครียดได้ด้วย (ความเครียดยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก เพราะฮอร์โมนจากความเครียดจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ส่งผลให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ทำให้ไข่เจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวที่มดลูกได้ยากขึ้น)
6. ตรวจสอบยาประจำตัว
หากวางแผนการมีลูกควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์เช็คว่ายาที่ใช้อยู่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ไหม หรืออาจจะต้องหยุดยาไปสักระยะ ถ้าหากกินยาคุมกำเนิดควรหยุดกิน หลังจากหยุดกินยาคุมอาจจะตั้งครรภ์ได้เลยทันทีหรืออาจจะต้องรอ 2-3 เดือนให้การตกไข่กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ทั้งนี้การตั้งครรภ์ทันทีหลังหยุดกินยาคุมไม่ถือว่าเป้นอันตรายใดๆ แต่การหยุดรับประทานยาคุมกำเนิดล่วงหน้าก็มีส่วนช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นและทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ง่ายขึ้น
7. รับวัคซีนที่จำเป็นให้ครบ เพื่อลูกน้อย
วัคซีนที่คุณแม่ควรได้รับก่อนการตั้งครรภ์มีดังนี้
- วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส ควรได้รับวัคซีนนี้ก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน
- วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดวัคซีนในขณะตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
- วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก สามารถให้รวมกันในเข็มเดียว และควรฉีดกระตุ้นซ้ำในทุกๆ 10 ปี สำหรับว่าที่คุณแม่ที่อยากมีลูก สามารถฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 1 เดือนก่อนเริ่มตั้งครรภ์ หรืออาจฉีดกระตุ้นในขณะตั้งครรภ์ได้ แต่ควรฉีดหลังจากอายุครรภ์เกิน 27 สัปดาห์ไปแล้ว เพื่อให้ภูมิคุ้มกันไปที่ทารกมากขึ้น
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ปกติวัคซีนชนิดนี้จะถูกแนะนำให้ฉีดในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 9-26 ปี ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ในขณะตั้งครรภ์ และควรฉีดวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกก่อนเริ่มตั้งครรภ์ และควรรอฉีดเข็มที่เหลือภายหลังจากคลอดแล้ว
- วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ บี เชื้อไวรัสตับอักเสบสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้ ดังนั้นผู้หญิงที่อยากมีลูกหรือกำลังตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจให้แน่ใจ จะได้รู้ว่าควรรับวัคซีนประเภทนี้หรือไม่
การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ถ้าว่าที่คุณแม่ท่านไหนไม่รู้จะเริ่มเตรียมตัวอย่างไรแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือถ้ายังไม่สะดวกพบแพทย์แนะนำเป็นซื้อหนังสือสำหรับการเตรียมตัวเป็นคุณแม่มาอ่านและศึกษาเบื่องต้นก่อนก็อาจจะเป็นแนวทางในการเริ่มเตรียมตัวได้