การอุ้มบุญแบบถูกกฎหมาย ใครสามารถทำได้บ้าง?
คู่สามีภรรยาปัจจุบันหลายคู่มักมีปัญหาเรื่องการมีลูกยากกันมากยิ่งขึ้น เพราะอาจจะด้วยปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถมีลูกเองได้ หรือไม่สามารถมีได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่กำเนิดของทั้งคู่ การใช้วิธีอุ้มบุญจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีสำหรับคนอยากมีลูก แต่กฎหมายในประเทศไทยปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีอุ้มบุญ ได้รับการคุ้มครองและควบคุมตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองเด็กจากการค้ามนุษย์
การอุ้มบุญ คือ การให้ผู้หญิงคนอื่นมาตั้งครรภ์แทนคู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ ใช้วิธีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในการรักษา(เด็กหลอดแก้ว) โดยการใช้เซลล์ไข่และเชื้ออสุจิของคู่สามีภรรยามาปฏิสนธิด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วจนกลายเป็นตัวอ่อน แล้วนำตัวอ่อนย้ายไปฝังไว้ที่มดลูกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป และเมื่อเด็กคลอดออกมาก็จะถือว่ายังเป็นลูกของคู่สามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกด้วยวิธีอุ้มบุญอาจจะต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อการรักษาแบบถูกต้องตามกฎหมาย
ใครที่สามารถใช้วิธีการรักษาด้วยการอุ้มบุญได้บ้าง?
ผู้ที่จะสามารถใช้วิธีการอุ้มบุญได้นั้นจะต้องผ่านการประเมินร่างกายจากแพทย์ เพื่อให้แพทย์ส่งรายละเอียดทำหนังสือถึงทางแพทยสภาเพื่อขออนุมัติการรักษาด้วยการอุ้มบุญ โดยมีภาวะต่อไปนี้
– ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกจนไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้
– ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมดลูกออกไปด้วยปัจจัยทางการแพทย์
– ผู้ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจขั้นรุนแรง
หลักเกณฑ์ในการอุ้มบุญแบบถูกกฎหมาย?
– คู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าหากเป็นการแต่งงานต่างสัญชาติคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ จะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี
– หญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทย และต้องเป็นญาติที่สืบเชื้อสายเดียวกับสามีหรือภรรยา หากไม่มีสามารถให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ แต่จะต้องไม่ใช่บุพการี หรือลูกสืบสายโลหิตของคู่สามีภรรยา
– หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีลูกมาก่อน ผ่าคลอดลูกไม่เกิน 3 ครั้ง อายุไม่เกิน 35 ปี และหากมีสามีอยู่แล้วต้องให้สามียินยอม
การตั้งครรภ์แทนโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์สามารถทำได้ 2 วิธี
- ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากเชื้ออสุจิของสามี และเซลล์ไข่ของภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย
- ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากเชื้ออสุจิของสามีแต่ใช้เซลล์ไข่บริจาค หรือเซลล์ไข่ของภรรยาแต่ใช้อสุจิบริจาค แต่ห้ามใช้เซลล์ไข่ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทน
ดังนั้นตามพระราชบัญญัติการใช้วิธีอุ้มบุญ เมื่อเด็กที่คลอดออกมาแล้วให้ถือว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายประสงค์จะมีบุตร แม้สามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งจะถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิดก็ตาม ห้ามสามีหรือภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตรนั้นปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนเด็ดขาด และผู้บริจาคเชื้ออสุจิหรือเซลล์ไข่ไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ้งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวมรดกต่อเด็กที่เกิดมา
หากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf