ภาวะการท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) เป็นอีกหนึ่งภาวะที่ผู้หญิงหลายๆคนไม่คาดคิดว่าตนจะได้เจอหรือเป็นภาวะนี้ เนื่องจากอาการในระยะเริ่มต้นจะคล้ายกับการตั้งครรภ์ทั่วไปจนคุณแม่อาจไม่ทันได้สังเกต วันนี้ทางเราจะมาอธิบายถึงภาวะการท้องนอกมดลูกว่าคืออะไร หากเป็นภาวะนี้จะมีอาการแบบไหนที่ทำให้ทราบว่ากำลังเผชิญกับภาวะนี้อยู่ และมีวิธีระวังหรือช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะนี้ไหม
ใคร ? ที่เสี่ยงเกิดการท้องนอกมดลูก ?
- อาการท้องนอกมดลูกเกิดได้จากอะไร สามารถเกิดได้ในกรณีที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากเคยมีประวัติการท้องนอกมดลูกมาก่อนหรือในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบริเวณท่อนำไข่เคยมีประวัติของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเป็นต้น
- ท้องนอกมดลูกมีวิธีการรักษาอย่างไร สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการใช้เคมีบำบัดเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์หรือเลือกใช้วิธีการผ่าตัดซ่อมท่อนำไข่หรือตัดท่อนำไข่ออก
- ท้องนอกมดลูกป้องกันได้อย่างไร อาการท้องนอกมดลูกนั้นไม่สามารถควบคุมแต่ก็มีวิธีการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงได้เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่มีความปลอดภัย รักษาสุขภาพร่างกายหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือขณะตั้งครรภ์ควรหมั่นสังเกตอาการตนเองหากมีอาการเลือดออกเป็นจำนวนมากควรรรีบพบแพทย์
การท้องนอกมดลูกคืออะไร
ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือ ภาวะที่ตัวอ่อนไม่ได้ฝังตัวที่โพรงมดลูก แต่ตัวอ่อนไปฝังตัวที่บริเวณอื่นซึ่งมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณท่อนำไข่ หรือปีกมดลูก ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ หากไม่ได้รับการรักษาจะก่อให้เกิดความเสียหายกับท่อนำไข่ และอาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้
อาการสัญญาณเตือนท้องนอกมดลูก
อาการเริ่มแรกท้องนอกมดลูก
อาการของการท้องนอกมดลูกในระยะแรกอาจจะไม่พบอาการอะไรมาก นอกจากอาการที่คล้ายกับการตั้งครรภ์ปกติ เช่น
- ประจำเดือนขาด
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดหัว
- เจ็บหน้าอก
สัญญาณอันตรายท้องนอกมดลูก
อาการของการท้องนอกมดลูกในระดับขั้นรุนแรง ที่ควรรีบได้รับการรักษา ก่อนที่ท่อนำไข่จะเกิดความเสียหาย คือ
- ปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน
- มีเลือดไหลจากช่องคลอดจำนวนมาก
- ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดต้นขา
- ปวดร้าวไปถึงบริเวณทวารหนัก
- หน้ามืด เป็นลม หรือมีภาวะช็อค
ท้องนอกมดลูกเกิดจากสาเหตุใด
การท้องนอกมดลูก เกิดได้จากหลายหลายสาเหตุ ดังนี้
- ท่อนำไข่มีลักษณะผิดรูป ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเครื่องที่ไปฝังตัวที่โพรงมดลูกได้
- อุ้งเชิงกรานอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- มีรอยแผลและพังผืดจากการผ่าตัด
- เคยมีประวัติการท้องนอกมดลูกมาก่อน
- การทำหมันหรือการแก้หมันหญิง
- การใช้ยาและการใช้ฮอร์โมน
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในกระบวนการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ช่วงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
การตรวจวินิจฉัยท้องนอกมดลูก
1. การซักประวัติ
แพทย์จะสอบถามประวัติเบื่องต้น เช่น มีประจำเดือนครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ มีโรคประจำตัวอะไรไหม ทานยาอะไรอยู่หรือเปล่า และครอบครัวมีใครเคยมีประวัติการท้องนอกมดลูกมาก่อนไหม
2. การตรวจภายใน
แพทย์จะทำการตรวจภายในโดยใช้อุปกรณ์สอดผ่านช่องคลอดเพื่อตรวจความผิดปกติ หรือตรวจบริเวณที่คุณผู้หญิงมีอาการปวดและบริเวณใกล้เคียงที่อาจพบความผิดปกติ เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ เป็นต้น
3. การตรวจเลือดหาฮอร์โมน hCG และการตรวจอัลตร้าซาวด์
แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจครรภ์ เมื่อฮอร์โมนบ่งบอกว่ามีการตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อหาตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก หากตรวจไม่พบตัวอ่อนหรือร่องรอยของตัวอ่อน แพทย์จะวินิจฉัยว่าอาจเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
วิธีรักษาภาวะท้องนอกมดลูก
1. การรักษาด้วยใช้ยา
การใช้ยาโดยการใช้ยาเคมีบำบัด คือ ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งเป็นยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ หากใช้ยาแล้วไม่มีการตอบสนองต่อการรักษา แพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดต่อไป
2. การรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดแพทย์จะทำการกรีดท่อนำไข่ นำตัวอ่อนออกและเย็บซ่อมท่อนำไข่ วิธีนี้จะเป็นการรักษาท่อนำไข่ไว้แต่จะมีโอกาสเกิดตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำ หรือการผ่าตัดท่อนำไข่ออก โดยวิธีการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 วิธีคือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องผู้ป่วยจะมีแผลเล็กกว่าและฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
3. การรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
การรักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ภาวะช็อคจากการเสียเลือดมาก อาจจะต้องรับเลือดทดแทน ภาวะอักเสบติดเชื้อ อาจต้องได้รับยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
วิธีป้องกันการท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกเป็นภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อความเสียหายต่ออวัยวะในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การท้องนอกมดลูกได้ คือ
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการอักเสบติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ดูแลสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงในการท้องนอกมดลูกมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่
- คุณแม่ควรสังเกตอาการขณะตั้งครรภ์ โดยหากมีอาการปวดท้องมากเกินไป มีเลือดออกที่ช่องคลอดผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
คำถามที่พบบ่อย
ท้องนอกมดลูก ตรวจครรภ์เจอไหม
หากท้องนอกมดลูก แล้วตรวจครรภ์จะขึ้น 2 ขีดปกติ เพราะการท้องนอกมดลูกถือเป็นการตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง แต่ตัวอ่อนจะไม่ได้ไปฝังตัวที่บริเวณโพรงมดลูกเท่านั้นเอง
ท้องนอกมดลูก สามารถเก็บลูกไว้ได้ไหม
หากท้องนอกมดลูกไม่สามารถเก็บลูกไว้ได้ เนื่องจากหากแพทย์ตรวจว่าเป็นการท้องนอกมดลูกแพทย์จะทำการรีบรักษาหรือผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพื่อไม่เกิดอันตรายต่อคุณแม่นั่นเอง
ท้องนอกมดลูก แพ้ท้องไหม
ในภาวะของการท้องนอกมดลูกในระยะเริ่มต้น จะมีอาการแพ้ท้องเหมือนคนท้องปกติทั่วไป แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการตรวจเช็คก็จะทำให้อาการค่อยรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ท้องนอกมดลูกพบได้บ่อยแค่ไหน
สำหรับการท้องนอกมดลูกอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย มักจะเกิดกับคนที่ท่อนำไข่อุดตันและเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการท้องนอกมดลูกได้ สำหรับครอบครัวใดที่อยากมีลูกและกำลังวางแผนในการมีลูก ควรตรวจสุขภาพทั้งภายนอกและภายใน เมื่อตรวจพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันเสียก่อน
ข้อสรุป
การท้องนอกมดลูก คือ การที่ตัวอ่อนไม่ได้ไปฝังตัวที่โพรงมดลูก แต่กลับไปฝังตัวที่บริเวณท่อนำไข่ และส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ อาการเริ่มแรกจะเหมือนกับคนท้องทั่วไป เช่น ประจำเดือนขาด อาเจียน ปวดหัว เจ็บหน้าอก แต่หากปล่อยไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้น เช่น มีเลือดไหลที่ช่องคลอดจำนวนมาก ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน หน้ามืด เป็นลม มีภาวะช็อค
หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ท่านไหนมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เมื่อตรวจพบว่ามีการท้องนอกมดลูกจริงๆแพทย์จะช่วยทำการรักษาได้ทันเวลา ทั้งนี้หากท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line : @beyondivf